วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แฉขวนการปั่นกระแสโซเชี่ยล มีเดีย

ภาพชี้แจงวงจรการปั่นกระแสสินค้า



แฉขวนการปั่นกระแสโซเชี่ยล มีเดีย เหตุพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เชื่อกูรูออนไลน์ “พันทิป”ยอมรับ แก็งสร้างกระแสมาแรง แจงลงโทษได้แค่ยึดล๊อคอิน “มีเดียมอร์นิเตอร์” จวกกม.ไทยอ่อน แนะหน่วยงานสอดส่องโฆษณาอีแอบ


ผู้สื่อข่าวหอข่าวได้สำรวจการใช้งานเว็บไซด์สังคมออนไลน์ หรือโซเชี่ยล มีเดีย (Social Media) พบว่ามีการนำเสนอเนื้อหารูปแบบหนึ่ง ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในแต่ละสังคมออนไลน์ คือการแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่ยอมรับในสังคมออนไลน์หรือ ผู้มีอิทธิพล (Influential) จนเกิดกระแสความนิยมสินค้าบางชนิดมากจนเกิดปรากฏการณ์สินค้าขาดตลาด (อ่านเพิ่มเติมจากบทล้อมกรอบ “ ทำความรู้จัก Social Media” )



จากการที่ผู้สื่อข่าวเฝ้าติดตามบรรดาเว็บไซด์โซเชี่ยล มีเดีย ยอดนิยมของคนไทย อาทิเช่น pantip, mulitiply ,twitter, bloggang เป็นต้น พบว่า มีเนื้อหาไปในทางการสร้างกระแสให้เกิดความนิยม และสนใจสินค้าบริการมากขึ้นจนผิดปกติ ผู้สื่อข่าวจึงได้ติดต่อไปยังผู้ให้บริการ เว็บไซด์ โซเชี่ยล มีเดีย ต่าง ๆ เพื่อขอข้อมูล


ผู้บริโภคชี้เชื่อเว็บก่อนตัดสินใจซื้อ


นางสาวนาถหทัย อวยพร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ตนเองเป็นคนที่นิยมหาข้อมูลสินค้าก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ โดยจะมีการเข้าเว็บไซด์ต่าง ๆ เช่น pantip,pramool,Jeban เป็นต้น เพราะเห็นว่าในเว็บต่าง ๆ จะมีคนที่เคยใช้มาบอกเล่าประสบการณ์ และมีผู้เชี่ยวชาญมาตอบคำถาม


“เดี๋ยวนี้ หากจะซื้ออะไรซักอย่างเพื่อความแน่ใจก็เปิดเว็บดูรีวิวก่อนเป็นอันดับแรก สบายใจได้แน่นอนค่ะเพราะคนเขาใช้ก่อนมาบอกต่อ ” นางสาวนาถหทัย กล่าว


ด้านนางสาวสุโรจนา ไข่มุกข์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า โดยปกติจะเข้าเว็บFacebook.com เป็นประจำ เพื่อเล่นเกม และสื่อสารกับกลุ่มเพื่อน นอกจากนี้ก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้า จะหาข้อมูลทั้งด้านบวกและด้านลบ จากเว็บบอร์ดต่าง ๆ ที่มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ ล่าสุดตนตัดสินใจซื้อรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ที่ผิดจากที่ตั้งใจไว้เดิม เพราะยี่ห้อที่ตั้งใจจะซื้อแต่แรก มีคนเขียนไว้ว่าไม่ดี และผู้เชี่ยวชาญในเว็บหลายคนบอกเป็นส่วนใหญ่ว่ายี่ห้อหนึ่งนั้นดีกว่า


ด้านนายเชลงพจน์ ภูมาศ อาชีพเภสัชกร เปิดเผยว่า ตนจะตัดสินใจซื้อสินค้าในปัจจุบัน จำต้องมีข้อมูลจากหลาย ๆ ด้าน ในอดีตจะใช้ข้อมูลจากคนใกล้ตัว หรือคนรู้จักที่เคยใช้มาบอกให้ฟัง แต่ปัจจุบันหากจะซื้อสินค้าหรือบริการสักอย่าง ก็เกรงใจที่จะโทรถามคนสนิทที่เคยใช้จึงเลือกที่จะไปโพสต์ถามในเว็บสังคมออนไลน์ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญคอยตอบอยู่และยังมีคนที่เคยใช้มาแสดงความคิดเห็นให้อีกด้วย เช่น Pantip,Bloggang,Exteen,Multiply


“มันเป็นเรื่อง สะดวกมากครับ อยากได้อะไรสักอย่างถ้าไม่แน่ใจในคุณภาพก็จะไปโพสต์ถามในเว็บ รอนิดเดียวก็มีคนมาช่วยตอบแล้ว ดีตรงที่ไม่ต้องไปรบกวนคนอื่นเขา” เชลงพจน์ กล่าวทิ้งท้าย




พันทิปฯ ชี้ปั่นกระแสสินค้ามีจริง


นายวรพจน์ หิรัญประดิษฐกุล ผู้ประสานงานฝ่ายเว็บบอร์ด(Webboard Co-ordinator) ของเว็บไซด์เว็บพันทิป ดอทคอม (pantip.com) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการปั่นกระแสสินค้าโฆษณาบนเว็บไซด์โดยเฉพาะเว็บบอร์ดจริง โดยจะมีการโพสต์หรือนำเสนอข้อความที่เหมือนการแนะนำสินค้า ประเภทใช้ดี แล้วบอกต่อ หรือที่เรียกกันว่า การรีวิว (Review)สินค้า จนเกิดกระแสให้นักท่องเว็บ ที่ศึกษาหาข้อมูลบนเว็บบอร์ด สนใจ คลิกเข้ามาดู จากนั้นนักปั่นกระทู้ จะมีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม โดยใช้ชื่อล๊อคอิน (Login)ที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดกระแสคนเข้ามาติดตามอย่างมากมาย ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้า




นายวรพจน์ กล่าวต่อว่า กรณีนี้ทางเว็บพันทิป จะมีการดูแลอย่างเข้มงวด และจะมีการลงโทษบรรดานักปั่นกระทู้เหล่านี้โทษสถานหนักคือการยึดชื่อผู้ใช้ล๊อคอิน (Login)นั้นไป ทั้งนี้นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่ที่พันทิปจัดไว้ดูแลแล้ว ยังมีบรรดานักท่องเว็บคอยสอดส่องและแจ้งเบาะแสแก่ผู้ดูแลอีกด้วย


นักปั่นรับ ปั่นกระทู้ทำจริง ได้เงินจริง


แหล่งข่าว ผู้ทำงานด้านการดูแลระบบเว็บบอร์ด ของเว็บไซด์ชื่อดังของไทย แห่งหนึ่ง เปิดเผยข้อมูลและเบาะแสของกลุ่มผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นนักปั่นกระแสในกระทู้สินค้าบนเว็บบอร์ดว่า สินค้าที่มีการสร้างกระแส บนเว็บบอร์ดหรือ โซเชี่ยล มีเดีย ต่างๆนั้นจะพบในกลุ่มสินค้าประเภท เครื่องสำอาง ร้านอาหาร และเครื่องดื่มประเภทเบียร์ โดยจะมีการสร้างกระแสหลายรูปแบบ ทั้งการนำเสนอประสิทธิภาพของสินค้าผ่านบรรดากูรูผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้วยังมีประเภทใช้ภาพถ่ายให้เห็นบรรยากาศร้านอาหาร ตลอดจนการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆเช่น จัดกิจกรรมชิมอาหารฟรี จัดกิจกรรมร่วมฝึกถ่ายภาพ ร่วมกิจกรรมประกวดต่าง ๆ เป็นต้น โดยจะมีการสร้างระบบบันทึกบทความออนไลน์(Personal Journal) หรือ เว็บบล็อก(Web blog)เพื่อเพิ่มรายละเอียดสินค้า บริการ ภาพบรรยากาศ และคำบรรยาย


แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีการสร้างกระแสละคร ภาพยนตร์ โดยการตั้งหัวข้อกระทู้เพื่อแสดงความน่าสนใจของละคร ภาพยนตร์นั้น ๆ โดยมีหน้าม้า ซึ่งเป็นทีมงานที่จะใช้ชื่อล๊อคอินไม่ซ้ำกันมาโพสต์แสดงความคิดเห็น ให้มีปริมาณมากจนติดอันดับกระทู้แนะนำในเว็บบอร์ดเพื่อแสดงถึงความนิยม วิธีการการตรวจสอบบรรดานักปั่นกระทู้นั้นทำได้โดยง่ายคือ ตรวจสอบหมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์(IP Address) ของบรรดารายชื่อผู้โพสต์ที่หลากหลายนั้น จะมาจากหมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์เดียวกัน (อ่านเพิ่มเติมจากบทความ “นักสืบออนไลน์ เบาะแสเด็ดสู่ข่าวสืบสวน”)


สร้างกระแส 300 คนในกระทู้เดียว


ผู้สื่อข่าวเฝ้าสังเกตการณ์ พฤติกรรมของบรรดานักโพสต์กระทู้ในเว็บpantip ที่ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวพบว่าส่วนใหญ่ชื่อผู้ใช้งาน (Username) ตามข้อมูลที่แหล่งข่าวแนะนำมามักโดนลบออกจากระบบเว็บไซด์แล้ว เพราะผู้ดูแลเว็บและสมาชิกตรวจสอบแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นข้อมูลโฆษณาแฝง และสร้างกระแสของสินค้า


ผู้สื่อข่าวยังพบอีกว่า มีการใช้ เว็บpantip ห้องเฉลิมไทย เพื่อแนะนำละครจากค่ายละครแห่งหนึ่ง ตามที่แหล่งข่าวแนะนำมาจริง จากหัวข้อกระทู้ละครเรื่องดังกล่าว มีผู้ติดตามแสดงความเห็นกว่า 300 คน ในหัวข้อเดียว เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดาคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นล้วนมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหัวข้อที่ตั้งไว้ เช่นขึ้นหัวข้อกระทู้ว่า “นาย..(ชื่อตัวละคร)กับนาย... (ชื่อตัวละคร) ดีกันแล้ว ตอนนี้เปิดดูด่วน” ในเนื้อหาที่มีคนมาตามก็จะเขียนต่อว่า “ซึ้งมากที่นาย... (ชื่อตัวละคร) บอกว่าจะดูแลกันและกันตลอดไปแล้วตอนต่อไป นาย... (ชื่อตัวละคร)จะตอบยังไงน๊า รีบมาดูตอนนี้เร็ว ๆ ” หัวข้อกระทู้เหล่านี้จะมีการแสดงความเห็นอย่างจำนวนมาก จนถึงขนาดขึ้นเป็นกระทู้แนะนำของห้องสนทนาและต้องขึ้นหัวข้อสนทนาใหม่ ในเรื่องเดียวกัน และมีการนำข้อมูลกิจกรรมพิเศษของละคร มาเสนอ เช่น “วันศุกร์นี้ เราจะไปทำบุญกับนาย...และนาย...ขอให้ทุกคนมาเจอกันที่อนุสาวรีย์ฯ ตอน 7.00 น. ” โดยลักษณะความเห็นก็จะมีตามมาในลักษณะสนับสนุน เช่น “เราจะไปร่วมงาน เพื่อแสดงคว ามรักบริสุทธิ์ระหว่างชายกับชาย”



ขณะที่อีกหัวข้อกระทู้หนึ่งที่พูดถึงภาพยนต์ที่กำลังเข้าฉายในโรงภาพยนต์ติดต่อกันหลายวัน ในลักษณะที่คนที่ไปดูมาแล้วดี เช่นขึ้นหัวข้อ กระทู้“ไปดูมาแล้วหนังเรื่อง...ฉากทะเล กับท้องฟ้าสวยมาก ดูแล้วมีความสุข อยากให้ทุกคนพาคนที่รักกันไปดู” โดยที่หัวข้อเหล่านี้ถูกนำเสนอขึ้นจำนวนมาก และติดต่อกัน จนสมาชิกในเว็บบอร์ด เริ่มสังเกตว่า เป็นการปั่นกระแส จนเกิดกระแส ต่อต้านตามมา จนมีคำสั่งจากทางเว็บบอร์ดว่าห้ามมีการโพสต์หัวข้อเกี่ยวกับภาพยนต์เรื่องดังกล่าวโดยเด็ดขาด



นอกจากนี้ผู้สื่อข่าว “หอข่าว” ยังพบว่าบน เว็บ multiply ซึ่งเป็นเว็บแชร์ภาพของสมาชิกคนหนึ่ง ที่แสดงลิงค์ไว้ในเว็บบอร์ดห้องก้นครัว pantip มีการแสดงภาพถ่ายบรรยากาศในร้านอาหาร เป็นที่น่าสังเกตว่าทุกภาพ ล้วนมีสัญลักษณ์ยี่ห้อเบียร์บริษัทหนึ่งปรากฏอยู่อย่างชัดเจนทีมผู้สื่อข่าวจึง ใช้ข้อมูลคือที่อยู่อีเมลล์(E-mail Address) เพื่อติดต่อขอข้อมูลจากเจ้าของ



“เมเม่” ช่างภาพอิสระ เจ้าของเว็บภาพคนดังกล่าวซึ่งล่าสุดถูก เว็บ pantip ลบข้อมูลในเว็บบอร์ดออกเนื่องจากทางเว็บไซด์เห็นว่าข้อมูลที่โพสต์เข้าข่ายโฆษณา ยอมให้ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 26ธันวาคม 2552ว่า ตนเป็นช่างภาพอิสระ ที่รับจ้างชิมอาหารตามร้านต่าง ๆ และเก็บภาพมาเขียนติชม บนเว็บบอร์ดได้รับค่าจ้างครั้งละ 2,000-3,000 บาทโดยต้องส่งเว็บเพจหน้าที่ลง กลับไปให้เจ้าของธุรกิจ เพื่อแสดงผลงาน นอกจากนี้ตนได้เข้าร่วมกิจกรรมกับทางบริษัทผลิตเครื่องดื่มประเภทเบียร์ยี่ห้อหนึ่ง โดยทางบริษัทจัดกิจกรรมพิเศษชักชวนช่างภาพ ให้ส่งรูปเข้าประกวด เพื่อจะได้โอกาสเข้าร่วมกิจกรรม ชิมอาหารและเบียร์ฟรี พร้อมเงินรางวัล โดยจะต้องมีการถ่ายรูป เพื่อไปลงในเว็บบอร์ดพร้อมเขียนบรรยายบรรยากาศ นอกจากนี้ตนยังทำหน้าที่ ในการช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทเบียร์ผ่านโซเชี่ยล มีเดีย ต่าง ๆ
กูรูมือถือพุ่งเป้านักท่องเว็บ

นายชัยวัฒน์ ฉันทสกุลเดช หรือที่รู้จักกันในนามCookieCompany (คุ๊กกี้คอมพานี)ชื่อผู้ใช้งานบนเว็บบอร์ด pantip ในฐานะผู้เชี่ยวชาญหรือกูรูด้านสัญญาณและโทรศัพท์มือถือ เปิดเผยว่า ช่องทางการโฆษณาบนเว็บบอร์ด ถือเป็นช่องทางที่บริษัทโทรศัพท์มือถือหลายรายให้ความสนใจ โดยบริษัทเหล่านี้จะพุ่งเป้าไปที่ บรรดานักท่องเว็บ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและและมีชื่อเสียงโด่งดังหรือกูรู ที่มีผู้ติดตามงานเขียนบนเว็บบอร์ดจำนวนมาก โดยบริษัทเหล่านี้จะมอบสินค้าเช่นโทรศัพท์มือถือ ให้บรรดา กูรูหรือผู้เชี่ยวชาญ ทดลองใช้ฟรี และมอบกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของแก่บรรดากูรูเหล่านั้น เพื่อแลกกับการ เขียนข้อความ หรือบทความบนเว็บบอร์ด และคอยตอบคำถามแก่ นักท่องเว็บอื่นที่สนใจสินค้านั้น



คุกกี้คอมพานี ยังกล่าวต่อว่า บางบริษัทมือถือติดต่อมายังบรรดากูรูโดยตรง ขณะที่บางบริษัทเลือกที่จะติดต่อผ่านบริษัทผู้แทนโฆษณา หรือเอเจนซี่ และบริษัทเอเจนซี่จะเป็นผู้ติดต่อสืบหากูรูมาทำงานตามเป้าหมาย โดยช่วงที่ตนเป็นที่นิยมบนเว็บบอร์ด และคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ในงานเขียนบนเว็บบอร์ด ช่วงเวลานั้นสามารถสร้างรายได้เป็นเงินหลักแสนบาทต่อเดือน ซึ่งขณะนั้นยังศึกษาอยู่ระดับมหาวิทยาลัยชั้นปีที่2เท่านั้น



ด้านนายนันทพงศ์ จงประทีป นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่6 โรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่าตนเป็นกูรู ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนในด้านโทรศัพท์มือถือ จากนั้นก็มีบริษัทมือถือ ติดต่อมาให้ทดลองใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ที่กำลังจะวางตลาด โดยให้กรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของเครื่อง เพียงแค่ไปเขียนรายละเอียดสนับสนุนเกี่ยวกับเครื่องที่ใช้ ลงบนเว็บไซด์ โซเชี่ยล มีเดีย ต่างๆ และคอยเพิ่มข้อคิดเห็นต่างๆ แก่ผู้สนใจ นอกจากนี้ ตนยังมีหน้าที่นำ เว็บไซด์ ที่เป็นรายละเอียดของสินค้ามา โพสต์ไว้เพื่อให้ผู้สนใจติดตามต่อในเว็บบล็อก และเว็บของบริษัทเจ้าของสินค้า



นายนันทพงศ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อได้รับเครื่องโทรศัพท์มือถือมา ก็จะนำไปขายต่อในราคาหลายหมื่นบาท เพราะเป็นเครื่องรุ่นใหม่สภาพดี นอกจากนี้ ชื่อผู้ใช้งานบนเว็บ โซเชี่ยล มีเดีย ของตนยังสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ คือเมื่อมีบริษัทใดที่ต้องการเปิดเว็บไซด์แนะนำสินค้าก็จะติดต่อให้ตนไปเขียนข้อมูลลงในเว็บไซด์ และให้นำเว็บลิงค์นั้นไปโพสต์บนเว็บบอร์ด หรือเว็บอื่นที่มีผู้สนใจติดตามชื่อผู้ใช้ของตน



นายกฯโฆษณา ชี้ปั่นไม่ผิดถ้าไม่เกินจริง

ด้านนายวิทวัส ชัยปาณี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน โซเชี่ยล มีเดีย ถือว่าน่าสนใจในมุมมองนักโฆษณา แม้ปัจจุบันผลวิจัยจะชี้ว่า มีประชากร 12ล้านคน ที่นิยมเสพข้อมูลทาง โซเชี่ยล มีเดีย แต่เชื่อว่าภายในเวลา 3ปีข้างหน้า ประชากรส่วนใหญ่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ทเพิ่มขึ้นมหาศาลอย่างแน่นอน



นายวิทวัส กล่าวอีกว่า การทำโฆษณาแฝงบน โซเชี่ยล มีเดีย ถือว่าไม่เป็นเรื่องผิด หากแต่ต้องพิจารณา ที่เนื้อหาว่าบิดเบือนความจริง และบรรยายสรรพคุณเกินความจริงหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ถือว่าผิดจรรยาบรรณนักโฆษณา แต่เพราะขอบเขตของจรรยาบรรณโฆษณาไม่อาจควบคุมถึง เพราะมีจำนวนนักโฆษณาหลายคน ที่ไม่รู้ถึงจรรยาบรรณเหล่านี้ และมีอีกหลายคนที่รู้แต่ก็เจตนาทำ จึงยากที่การควบคุมทางจรรยาบรรณโฆษณาจะดูแลได้ทั้งหมด



มีเดียมอนิเตอร์ จวก กฎหมายไม่เข้มพอ



นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม( MEDIA MONITOR: MM )หรือมีเดีย มอนิเตอร์ กล่าวว่า กรณีการโฆษณาแฝงบน โซเชี่ยล มีเดีย ต้องพิจารณาที่ตัวสารว่าบิดเบือน หรือหลอกลวงหรือไม่ ซึ่งหากเป็นกรณีเช่นนี้ก็ถือว่าผิดในเรื่องของจริยธรรมทางธุรกิจ



นายธาม กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกฎหมายประเทศไทย ยังไม่ครอบคลุมเรื่องการโฆษณาแฝงบนโซเชี่ยล มีเดีย ซึ่งถือเป็นความล้าหลังของกฎหมายไทย โดยหากเป็นการทำโฆษณาแฝงเช่นนี้ในต่างประเทศ จะมีความผิดตามกฎหมาย เพราะต่างประเทศจะมีหน่วยงานคอยดูแลสารโฆษณาบนเว็บไซด์ ให้มีการแยกออกอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภครู้ได้อย่างชัดเจน



“...การปนกันของข้อมูลที่เป็นจริง กับข้อมูลลวงที่เป็นสารโฆษณาถือว่า เป็นการไม่ยุติธรรมต่อผู้บริโภค...”
ผู้จัดการวิชาการฯ กล่าว







ล้อมกรอบข่าว : ทำความรู้จัก Social Media



Social Media มันคืออะไร ?Social Media ก็คือสังคมออนไลน์ ที่มีการสื่อสารผ่านการเขียนเล่าเนื้อหาเรื่องราว ประสบการณ์ บทความ หรือการแบ่งปัน รูปภาพ วิดีโอ ที่ผู้ใช้เขียนและจัดทำขึ้นเอง หรือพบเจอมาจากสื่ออื่นๆ แล้วนำมาแบ่งปันให้กับผู้อื่นที่อยู่ในเครือข่ายของตน ผ่านทางเว็บไซต์ Social Network ที่ให้บริการ ปัจจุบันการสื่อสารแบบนี้ จะทำผ่านทาง Internet และโทรศัพท์มือถือเท่านั้น โดยที่เนื้อหาของ Social Media จะถูกนำเสนอในหลายรูปแบบ ทั้ง กระดานความคิดเห็น (Discussion boards), เว็บบล็อค (Weblogs), วิกิ (wikis), Podcasts, รูปภาพ และวิดีโอ ส่วนเทคโนโลยีที่รองรับเนื้อหาเหล่านี้ก็รวมถึง เว็บบล็อค (Weblogs), เว็บไซต์แชร์รูปภาพ, เว็บไซต์แชร์วิดีโอ, เว็บบอร์ด, อีเมล์, เว็บไซต์แชร์เพลง, Instant Messaging, Tool ที่ให้บริการ Voice over IP เป็นต้น


5 อันดับเว็บ Social Media ยอดนิยมเมืองไทย



1. Facebook
2. hi5
3. Blogger.com(blogger.com)
4. hi5.com (facebook.com)
5. exteen (exteen.com)
(ข้อมูลจากเว็บไซด์จัดอันดับ: http://www.alexa.com/)




ผู้มีอิทธิพล(Influential) บนSocial Media



แต่เดิม Influentialในโลกโฆษณานั้นคือการนำเสนอสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ให้ประชาชนสนใจ โดยจะต้องมีการให้ผู้ที่เป็นที่เชื่อถือยอมรับในเรื่องนั้น ๆ ออกมาบอกหรือสนับสนุนว่าสินค้านี้ดีจริง Influential ยังรวมถึงคนใกล้เคียง ที่เป็นที่รู้จักมักคุ้นมาบอกเล่าถึงสินค้า หรือบริการที่เคยใช้มาว่าดีจริง





เหล่านี้จะมีผลให้ผู้บริโภคเชื่อตาม และยอมซื้อสินค้า หรือบริการ มาใช้ ผู้มีอิทธิพล(Influential) ที่คุ้นเคยอีกรูปแบบหนึ่งคือ "เซเลบริตี" (Celebrity) นิยามของ เซเลเบริตี หมายถึง บุคคลมีชื่อเสียง เช่น ดารา นางแบบ ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะถูกนำมาเป็นตัวแทนของผู้ที่เคยใช้สินค้าและบริการ และบอกว่ามันดี และให้ข้อมูลสนับสนุนให้คนทั่วไปสนใจซื้อ ด้วยภาพลักษณ์ที่บรรดาเซเลบริตีมี คือคนที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือตามไปด้วย



ปัจจุบัน Influential ถูกนำมาใช้บน Social Media ผู้มีอิทธิพลบน Social Media คือคนใกล้ชิดในสังคมออนไลน์ มีการสื่อสารกันผ่านการพูดคุย บนช่องทางต่าง ๆ ซึ่งสำหรับคนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะมีการแบ่งปันความรู้แก่กัน ขณะที่บางคนเป็นเพียงผู้มีทักษะทางภาษาดี เขียนข้อความต่าง ๆ อย่างน่าเชื่อถือ โดยอาจไม่ต้องมีความเชี่ยวชาญก็ได้ บุคคลเหล่านี้เมื่อกลายเป็น Influential บน Social Media ก็จะเป็นที่นิยมและมีผู้ติดตามจำนวนมาก เมื่อเกิดข้อสงสัย หรือไม่แน่ใจ บุคคลเหล่านี้จะกลายเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญที่น่าไว้ใจ หรือ กูรู ในทันที และจะทรงอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในที่สุด



ใครรู้จัก กูรู บนโลกออนไลน์บ้าง...


กูรู เดิมนั้นมาจากภาษา สันสกฤต เป็นคำทับศัพท์ หมายถึง ครู หรือ อาจารย์ ซึ่งในศาสนาพราหมณ์ฮินดูนั้น มาจากปรัชญาความเชื่อในความสำคัญของการเข้าถึงความรู้ โดยมี กูรู หรือ อาจารย์เป็นผู้ชักนำไปสู่จุดสูงสุด กูรูบนโลกออนไลน์ คือ บรรดาผู้สนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเฉพาะ และศึกษาเรื่องนั้นจนมีความเข้าใจจนลึกซึ้งในระดับหนึ่ง จากนั้น ก็จะนำความรู้ที่ตนมีมาเผยแพร่บน Social Media จนมีผู้สนใจมาติดตามความรู้เป็นแฟนคลับของกูรูรายนั้น ๆ


กูรู ทำอะไรบน Social Media


เมื่อ บรรดากูรู โด่งดัง จนเป็นที่รู้จักสังคม Social Media แล้ว ก็จะมีบริษัทผู้ผลิตสินค้า มาติดต่อ เพื่อร่วมทำธุรกิจด้วย โดยจะมีการเสนอผลตอบแทนให้ หากมีการเขียนข้อความเป็นลักษณะสนับสนุนสินค้าหรือบริการในทางบวก โดยจะมีเงื่อนไขกูรู จะต้องมาตอบ ข้อสงสัยในทางบวกแก่ผู้สนใจ โดยจะต้องไม่ให้ผู้สนใจเหล่านั้นรู้ว่าเป็นการโฆษณา หรือการเชียร์สินค้า บางครั้งจะมีทีมงานที่มาจากบริษัท หรือทีมของกูรู มาสร้างคำถามในเชิงเปิดทาง หรือมาแสดงความคิดเห็นนทางบวกเพิ่มเติมจำนวนมาก ทำให้ข้อมูลนั้นมีจำนวนคนสนใจมาก และคนทั่วไปที่ท่องอยู่บน Social Media ก็จะสนใจ จนเกิดกระแสความคลั่งใคล้ในสินค้า และบริการนั้น

กูรู กับการ รีวิว


นอกจากนี้บรรดากูรู ก็จะมีการสร้างข้อมูลแนะนำสินค้า โดยจะชี้ให้เห็นความแตกต่างก่อนและหลังการใช้สินค้านั้น ว่าหลังใช้ส่งผลดีอย่างไรจนทำให้ผู้สนใจผลิตภัณฑ์เหล่านั้นตัดสินใจซื้อตาม
เครื่องมือการทำงานของกูรู เนื่องจากบรรดากูรูต่างโด่งดัง มาจาก Social Media แต่ด้วยข้อจำกัดของ เว็บ Social Media บางเว็บที่ไม่สามารถตกแต่งให้สวยงามหรือน่าสนใจ เช่น twitter ,webboard .. แต่เว็บเหล่านี้กลับมีผู้ใช้บริการมาก และกูรูเองก็โด่งดังมาจากเว็บเหล่านี้ ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการทำงาน บรรดากูรูจึงใช้ เว็บไซด์เหล่านี้เป็น “เว็บประตู” และจะเขียนข้อมูล แบบไม่ละเอียดมาก จากนั้นจะทิ้ง ลิงค์ของเว็บไซด์ Social Media ที่เป็นรายละเอียดเอาไว้ ให้คนตามต่อ เช่น เว็บส่วนตัว, เว็บบล๊อค, เว็บไดอารี่ เป็นต้น

กูรูได้อะไรเป็นผลตอบแทน

หลังจากที่กูรูบางคนได้รับการว่าจ้างจากบริษัทผู้ผลิต หรือ บริษัทเอเจนซี่แล้ว ผลตอบแทนของกูรู นั้นมีหลายรูปแบบ บางรายจะได้รับสินค้ามาทดลองใช้ และยกสินค้านั้นให้เป็นสิทธิของ กูรู เช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ขณะที่บางรายจะได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน โดยจะต้องส่งงานเป็นหน้าเว็บที่ได้ทำการรีวิว เขียนเชียร์ ไปให้ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างก็จะประเมินค่าจ้างจากจำนวนคน ที่เข้ามาถาม อ่าน หรือเปิดดู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น