วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โรงเรียนติดแบรนด์

ลูก เหมือนดินน้ำมันในมือของบุพการี เป็นดินน้ำมันที่ทั้งพ่อและแม่ต้องช่วยกันปั้นขึ้นมาด้วยความรัก ความเอาใจใส่ และความพอดี หากมีฝีมือ จากดินน้ำมันก้อนเล็กๆ ก็คงจะต่อยอดเป็นงานศิลป์อันสวยสดให้พ่อแม่ได้ชื่นอกและผู้อื่น้ร่วมชื่นชม แต่หากไร้ซึ่งฝีมือและความพอดี สุดท้าย ดินน้ำมันก้อนนั้น คงแหลกเละคามือ จนแทบไม่เหลือชิ้นดี


การนำพาลูกไปสู่สังคมอันดีพร้อมในทุกสิ่ง ล้วนเป็นสิ่งที่พ่อแม่ในทุกครอบครัวต่างกระทำ และไม่ว่าใครก็คงใฝ่ฝันที่จะเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาอันมีชื่อเสียงและมั่นใจได้ว่ามีคุณภาพคับแก้ว โรงเรียนนับเป็นหนึ่งสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ล้วนต้องคัดกรอง แต่หากคัดกรองเพียงสิ่งที่ พ่อแม่ คิดว่าดีโดยไม่ได้มองถึงจิตใจของเหล่าลูกหลานแล้ว บางครั้งสิ่งดีนั้นอาจแปรเปลี่ยนลูกน้อยไปจนกู่ไม่กลับ แต่หากว่าการคัดกรองนั้นเกิดจากการตริตรองโดยคนทั้งสองฝั่งด้วยดี ผลลัพธ์ที่ได้คงนำมาซึ่งรอยยิ้มจากหัวใจ


การเลือกโรงเรียนหรือสถานศึกษาสักแห่งให้แก่ลูกหลาน ดูจะเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้การตัดสินใจอย่างมากทีเดียว เพราะหากเลือกผิดคงไม่ต่างกับการส่งลูกหลานเข้าสู่ปากของ เสือ สิง กระทิง แรด ดังจะเห็นได้จาก ข่าวเสียๆหายๆเกี่ยวกับการศึกษาในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ข่าวอาจารย์ข่มขืนลูกศิษย์ที่ยังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆไม่เคยว่างเว้นจากหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวนักเรียนยกพวกตีกัน หรือข่าวที่สะเทือนขวัญเด็กนักเรียนไปทั่วประเทศเมื่อหลายปีก่อนกับข่าว นส. จิตรลดา ตันติวณิชยสุข มือมีดที่บุกเข้าไปไล่แทงเด็กๆถึงในโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ และล่าสุดกับข่าวของ นส.อริสรา ทองบริสุทธิ์ หรือ ดิว ดาราวัยรุ่นชี่อดัง ที่มีคลิปหลุดตบนักเรียนรุ่นน้องจนใหล่หลุด เมื่อสมัยที่ยังเรียนมัธยมในโรงเรียนติดแบรนด์แห่งหนึ่งย่านบางรัก สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เรารับรู้ว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่ ที่พ่อแม่จะสามารถฝากฝังบุตรหลานให้อยู่ในการดูแลได้อย่างปลอดภัยเต็ม100 ได้อีกแล้ว


หยดน้ำตา


“เขาร้องให้แล้วเดินมาบอกพี่ว่า ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากทำการบ้าน คุณครูดุ เขากลัว เขาอยากอยู่บ้าน ”

คุณเก๋ หญิงสาววัย 34 คุณแม่ของลูกชายวัย 6 ขวบ กล่าวขึ้นด้วยน้ำเสียงราบเรียบ พร้อมกับถอนหายใจเบาๆ เธอส่งลูกชายวัย เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เธอกล่าวว่าโรงเรียนแห่งนี้เธอตระเวนเลือกให้กับลูกชายกว่า2อาทิตย์ ด้วยหวังว่าจะเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดสำหรับลูกชายของเธอ แต่สุดท้ายเพียงแค่1เทอมที่เข้าเรียน ลูกชายตัวน้อยก็เริ่มโยเยเสียแล้ว


“วันหนึ่ง ตอนเขากำลังกินข้าวเช้า เขาก็พูดว่าไม่อยากไปโรงเรียน วันนี้หยุดได้ไหม ก็บอกว่าไม่ได้ น้องโอมจะหยุดเรียนทำไม ไม่เอาไม่หยุดหรอก เขาก็เลยเงียบไม่พูดอะไรอีก ก็ไปสตราท์รถเปิดแอร์เตรียมไว้ให้เขา เขาร้องให้หนักเลยแล้วเดินมาบอกว่าไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากทำการบ้าน คุณครูดุ เขากลัว เขาอยากอยู่บ้าน ก็ตกใจ โอมเป็นอะไร ? ”


เมื่อน้ำตาของลูกน้อยหลั่งริน ผู้เป็นแม่จึงต้องค้นหาความจริง “ อีกวันก็เลยบอกให้โอมลองไปโรงเรียนดูไหม ตอนกลับบ้านจะพาไปเที่ยวบ้านเพื่อน เขาจึงยอม วันนั้นพี่ก็เลยแอบๆยืนดูครูเขาสอนก่อนกลับบ้าน ก็ตกใจ สอนยากภาษาอังกฤษบางคำพี่ฟังยังงงเลย แต่นี่เด็ก 6ขวบเรียน! สุดท้ายเลยให้เขาออกจากที่นี่เพราะ สงสาร ไม่เอาแล้ว ร้องไห้ไปโรงเรียนทุกวัน”


ในความเป็นจริงแล้ว คงไม่มีพ่อแม่คนไหนต้องส่งลูกไปโรงเรียนด้วยน้ำตานองหน้า แต่เมื่อคิดถึงสิ่งที่ลูกน้อยจะได้รับกลับมาแล้ว หลายครอบครัวจึงต้องทำใจยอมรับกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้
“เอาจริงๆเลยนะ ไม่ใช่เรียนที่นั่นไม่ดี ภาษาอังกฤษน้องก็ดี พูดได้เป็นประโยคๆ เด็กแถวบ้านยังพูดไม่ได้เลย อาจารย์ก็ดีสมกับที่เขาเป็นโรงเรียนดัง ถึงค่าเรียนจะแพง แต่เขาก็พยายามยัดให้ลูกเราเยอะเหมือนกัน ตอนพาย้ายออกเสียดายมาก แต่เห็นเขาร้อไห้แล้วเราก็สงสาร”


จากมองมุมครู


น.ส.สุภาณี รักษาสุข อาจารย์จากโรงเรียนเอกชนย่านบางซื่อ กล่าวว่า “อาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้มาเกือบ2ปีแล้ว และได้สอนพิเศษหลังเลิกเรียนด้วย มีผู้ปกครองพาเด็กนักเรียนที่มีอาการออทิสติก(อาการของผู้ที่มีพัฒนาการทางสมองช้า) มาเรียนด้วย อาจารย์ตกใจเหมือนกันเพราะรู้สึกว่าการเรียนพิเศษกับเด็กออทิสติกอาจารย์มองว่าเยอะเกินไป เพราะอาจารย์สอนพิเศษภาษาจีน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เด็กปกติยังเรียนเข้าใจได้ยากมาก การทำแบบนี้เหมือนพยายามยัดให้เขามากเกินไป จริงๆไม่น่าพาเขามาเรียนรวมกับเด็กธรรมดาด้วยซ้ำ แต่อาจารย์ปฏิสธเขาไปไม่ได้ เขาก็คงอยากให้ลูกสาวเก่ง มีความสามารถเหมือนเด็กคนอื่นๆ ถึงจะเป็นเด็กที่มีอาการออทิสติกก็ตาม”



เช่นเดียวกับ น.ส. ธิติพร สุทธิบริบาล อาจารย์จากสถาบันสอนพิเศษ Be Top ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนพิเศษของเด็กอนุบาลว่า สอนด็กๆกลุ่มละประมาณ20คน หากถามว่าเร็วไปไหมกับการพาเด็กมาเรียนพิเศษตั้งแต่ยังเรียนอนุบาล มองว่า อยู่ที่ตัวเด็กมากกว่า ถ้าหากว่าเด็กรับได้ เรียนได้เราก็รับ
“สมัยก่อนเคยสอนเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเขาไม่ชอบไปโรงเรียนเพราะโดนเพื่อนแกล้งตั้งแต่อยู่อนุบาล1 แม่เขาต้องให้ลูกหยุดเรียนไปเกือบ2อาทิตย์ จึงพามาเรียนพิเศษที่นี่ เพราะแม่เขากลัวว่าลูกจะสอบเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ไม่ได้ แม่เขาอยากให้เข้าที่นี่มากเพราะเขาเคยเรียนที่นี่จึงอยากให้ลูกได้เรียนด้วย และเนื่องจากได้ยินมาว่าข้อสอบยาก จึงบังคับลูกสาวมานั่งเรียนกับเราทุกวัน เห็นแล้วก็สงสาร สุดท้ายต้องบอกแม่เขาว่าน้องไม่น่าจะไหว น่าจะให้หยุดเรียนก่อน เพราะน้องซึมมากไม่คุยกับใครเลย” ครูธิติพรให้ข้อมูล
เพราะโลกมันเปลี่ยนไป


“ แป๊ะเจี๊ย ” อีกหนึ่งหนทางทำเงินของทั้งโรงเรียนเอกชนและรัฐบาล ปีละกว่า1,000ล้านบาท คือจำนวนเงินที่พ่อแม่ต้องเสียให้แก่โรงเรียนชื่อดัง เพื่อให้ลูกกลานได้เข้าเรียนสมใจ ว่ากันว่าบางโรงเรียนเรียกเก็บเงินตั้งแต่กรอกใบสมัคกันเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังไม่รวมค่าเรียนพิเศษ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ค่ากิจกรรมพิเศษ ที่ล้วนแล้วแต่ดูดสตางค์ในกระเป๋าจนตัวเบา


เมื่อโรงเรียนเรียกเก็บเงินกับเหล่าเยาวชนของชาติไม่ต่างกับปลิงตัวอ้วนกลม ที่คอยสูบเลือดสูบเนื้อมานานหลายปี เด็กๆที่ต้องเติบโตในสังคมที่ใช้เงินเป็นที่ตั้งและเป็นหลักประกันคุณภาพในทุกสิ่งรอบตัว จะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังของชาติในอนาคตเช่นไร หากนึกไม่ออกคงต้องลองเปิดดูประชุมสภาหรือข่าวการเมืองตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆสักครั้ง...


ด้าน นายประยูร มัยโภคา ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญ สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวถึงกรณีการรับเข้าของโรงเรียนเอกชนซึ่งมีปัญหาในการรับเงินใต้โต๊ะ ว่าการเสียแป๊ะเจี๊ยนั้นอยู่ที่ความพึงพอใจของผู้ปกครอง เรียกว่าการรวมทุนสนับสนุนกับทางโรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนมีความโดดเด่น เพราะโรงเรียนรัฐบาลมีทุนจำกัด แต่ว่าโรงเรียนเอกชนต้องขยายอาคารสถานที่ มีสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอน ผู้ปกครองยินดีสนับสนุน โรงเรียนประเภทนี้จะโดดเด่น และส่วนมากจะเป็นโรงเรียนในเครือคาทอลิก หรือโรงเรียนที่เป็นเจ้าขุนมูลนายเดิม ที่ตั้งในเครือสำนักพระราชวัง


“ตอนนี้ถึงยุคของการแข่งขันแล้ว ทุกโรงเรียนถ้าผู้บริหารนั่งอยู่กับที่คงก้าวไม่ทันโรงเรียนอื่น เพราะโรงเรียนเอกชนที่อยู่ได้ต้องมีคุณภาพเท่านั้น ส่วนโรงเรียนเอกชนที่ไม่มีคุณภาพไม่มีทางสู้โรงเรียนของรัฐได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าใน กทม. เชียงใหม่เขามักจะส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนเอกชน เพราะว่าเขากำกับดูแลใกล้ชิด โรงเรียนเอกชนเจ๊งได้ ส่วนรัฐบาลไม่มีเจ๊ง โรงเรียนเอกชนใดที่สอนแล้วเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็อยู่ไม่ได้ โรงเรียนเอกชนที่ดังๆจะเห็นได้ว่าผู้บริหารอยู่โรงเรียนตั้งแต่เช้าถึงเย็น บางท่านกินนอนที่โรงเรียนเลย” นายประยูร กล่าว


โรงเรียนติดแบรนด์หรือใกล้บ้าน?


เมื่อมองอีกด้าน แม้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายจะรู้ทั้งรู้ว่าหากนำลูกหลานมาเรียนที่โรงเรียนต่างๆเหล่านี้จะต้องเสียเงินมากมาย เรียกว่าค่าใช้จ่ายต่อเทอมหนึ่งๆเกือบแสน หรือบางที่เมื่อรวมค่ากิจกรรมต่างๆก็คงจะหลายแสนเสียด้วยซ้ำ แต่พ่อแม่ก็ยังต้องการให้ลูกหลานได้เข้าเรียนในโรงเรียนชื่อดังต่างๆอยู่เช่นเดิม เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?


“จบจากเซนต์โยเซฟคอนเเวนต์ค่ะ เหตุผลที่เลือกเรียน จริงๆตอนที่เข้า ก็ไม่รู้เรื่องอะไรหรอกค่ะ แม่อยากให้เข้า เคยถามแม่ว่า ทำไมอยากให้เข้าที่นี่ แม่บอกว่า เพราะสังคมดี การเรียน เรื่องวิชาการการันตีได้ เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง อยู่ใกล้บ้านค่าเทอมไม่แพง เพราะเซนต์โยค่าเทอมแค่หลักพันต้นๆ ส่วนข้อดีจริงๆที่เห็นชัดๆเลยก็คือ สังคมที่ดี แล้วก็เรื่องการสอบแอดมิชชั่น ก็การันตีผลได้ค่อนข้างดี ในขณะที่ โรงเรียนรัฐบาลเองก็มีคนเก่ง แต่เปอร์เซ็นเทียบกันแล้ว เรารู้สึกว่าไม่ได้การันตีขนาดนั้น”
นี่คือความคิดเห็นของ คุณ เอ(นามสมมุต) สาวน้อยที่ได้ผ่านการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนติดแบรนด์ ย่าน บางรัก เซนต์โยเซฟคอนเเวนต์


อย่างไรก็ตามจาการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองและเหล่าเยาวชน ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจากเว็บไซต์ WWW.PANTIP.COM ในคำถาม “คุณจะลือกโรงเรียนแบบใหนให้แก่ลูกหลาน?” ทำให้เรารู้ว่า มนุษย์ทุกคนต่างรู้ดีอยู่แล้วว่า ควรมอบสิ่งใดให้แก่คนที่ตนรัก แต่ท้ายที่สุด ส่วนลึกของจิตใจยังคง พยายามที่จะยืนให้สูงกว่าคนอื่นๆในสังคมอยู่เสมอ


จากผลโหวตเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2552 ทำให้เราได้รับรู้ว่า สังคมได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อผลโหวตแสดงให้เห็นว่า จาก130คนของผู้ร่วมโหวต มีถึง 56.92 % หรือ 74 คนที่โหวตเลือกการเรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน ซึ่งนับเป็นอันดับ1จาก3อันดับ แต่เมื่อเหลือบมองที่อันดับที่ 2 ก็ทำให้เรารับรู้ว่า ชื่อเสียงและความโด่งดังช่างหอมหวานและยั่วยวนเสมอ กับ 33.85 %หรือ 44คน และอันดับ3กับโรงเรียนเอกชนสุดหรู แม้จะรั้งท้าย แต่อย่างไร ก็ยังคงมีอิทธิพลต่อไปไม่เสื่อมคลาย ที่ 9.23% 12 คน
ลูกมีค่ามากกว่าโรงเรียนติดแบนรด์


จะมีทางเป็นไปได้หรือไม่หากเราต้องการให้สถานศึกษาทั่วประเทศ มีหลักสูตรที่เท่าเทียม? อาจเป็นคำถามที่รู้อยู่แก่ใจของใครหลายคน หรือเป็นคำตอบที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า “ไม่มีทาง”


ด้วยหวังว่า คำพูดและความคิดของ นาย อำนวย โสตะวงค์ คุณพ่อของลูกสาววัย5ขวบ จะเป็นพลังเล็กๆ
และตรงสู่กลางใจของผู้คน กลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมของเรา ตลอดไป


“ลูกสาวตัววุ่นวายของผม 5 ขวบ อยู่อนุบาล 2 ผมกับภรรยากำหนดไว้ว่าเมื่อเธอเข้า ป.1 จะให้เข้าโรงเรียนใกล้บ้านที่เดินไปได้ในเวลา 5 นาที แม้จะมีกำลังทรัพย์พอจะส่งให้เธอเข้าโรงเรียนเครือคาธอลิคที่มีชื่อเสียงได้โดยไม่เดือดร้อน แต่ผมกับภรรยาเห็นว่ามันไม่คุ้มกันกับการต้องบีบให้ลูกสาวตื่นตั้งแต่ตีสี่ตีห้า งัวเงียมาแต่งตัว กินอาหารและสัปหงกในรถ สลึมสลือไปเข้าเรียน เช่นเดียวกับต้องทรมานกับรถติดช่วงเย็นกว่าจะกลับถึงบ้าน โรงเรียนที่เธอเข้าเป็นโรงเรียนเอกชนเล็กๆ ธรรมดา เดินได้ภายใน 5 นาที เธอสามารถตื่นเจ็ดโมงเช้าสบายๆ อาบน้ำแต่งตัว เล่นกับพ่อแม่ ทานอาหารเช้าที่บ้านกับพ่อแม่ เดินไปโรงเรียนพร้อมคุณแม่ที่ทำงานอยู่ใกล้ๆ กัน ตกเย็นพ่อก็มารับแล้วกลับไปเล่นกับคุณตาคุณยายที่บ้าน เล่นกับหมาชิวาวาสามตัว ทานอาหารเย็นด้วยกัน ทำการบ้านกับพ่อแม่ ใช้ชีวิตพูดคุยกันจนเข้านอน สำหรับพ่อแม่ใกล้ชิดลูกมีค่าเกินกว่าค่านิยมเลิศหรูของโรงเรียนดังๆ มากนักครับ”


ปัจจุบันในเขตกรุงเทพมหานคร มีโรงเรียนทั้งหมด 1174 แห่ง โดยแบ่งเป็น โรงเรียนมัธยม สพฐ. 734 แห่ง โรงเรียนเอกชน 54 แห่ง โรงเรียนสาธิต 8แห่ง โรงเรียนนานาชาติ(รวมระดับอนุบาลและประถมวัย)82แห่ง และโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 178 แห่ง นี่เป็นโรงเรียนทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานคร จะเห็นใด้ว่ามีอยู่มากมายและกระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร ท้ายที่สุดแล้วก็คงมีแต่คุณพ่อคุณแม่และลูกๆเท่านั้นที่จะเลือกและกำหนดชิวิตทางการศึกษาของตน


โรงเรียนเอกชนไม่ใช่สิ่งผิด โรงเรียนอินเตอร์ นานาชาติ ไม่ใช่สิ่งผิด โรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่ใช่สิ่งผิด ไม่มีสิ่งใดผิด หากใช้สติและปัญญาในการตัดสินใจ


การได้ยืนอยู่ในระดับที่เหนือกว่าผู้อื่นในสังคมดูจะเป็นสิ่งที่ยั่วยวนและหอมหวานสำหรับทุกคน มนุษย์พยายามผลักดันตัวเองให้สูงขึ้น สูงขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์แข่งขันกันในทุกเรื่องเท่าที่พวกเขาจะคิดได้ และมันเกิดขึ้นกับคนทุกวัย เด็กอนุบาลต้องเรียนในโรงเรียนที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์เสริมทักษะและติดแบรนด์ เด็กประถมต้องเรียนในโรงเรียนที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์พัฒนาความรู้และติดแบรนด์ เด็กมัธยมต้องเรียนในโรงเรียนที่โก้หรูมีชื่อเสียงและติดแบรนด์ ……..


สังคมปัจจุบันกำลังพยายามสร้างเยาวชนที่สมบูรณ์แบบนับตั้งแต่ที่พวกเขาลืมตาดูโลก แต่หารู้ไม่ว่าบางครั้งเยาวชนที่สมบูรณ์แบบจนเกินไปก็คงไม่ต่างอะไรกับหุ่นยนตร์ที่ถูกส่งเข้าไปประกอบในโรงเรียนติดแบรนด์ แต่ลืมติดหัวใจของมนุษย์เข้าไปด้วย สุดท้ายเมื่อถึงขีดสุดแห่งความสมบูรณ์แบบในทุกสิ่งที่พยายามเติมเต็มให้แก่ตนเองอย่างไม่รู้จบ หุ่นยนต์เหล่านั้นก็คงจะพังด้วยเพราะเกินจะรับใหวและมันคงยากเกินจะเยียวยา


อย่าได้ผลักดันใครไปตามเส้นทางที่เราเคยใฝ่ฝัน แต่จงมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการเป็นกำลังใจให้คนที่คุณรักก้าวไปสู่สิ่งที่ฝั่นใฝ่ให้สำเร็จ ด้วยตนเอง……

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น