วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ตักบุญ ถวายบาป







“เอ๊า! หยิบเลย เลือกเลย เอาให้อิ่ม คิดไม่แพงจ๊า...” เป็นเสียงคุ้นหูที่ใครเดินผ่านไปผ่านมา ในซอยประชาสงเคราะห์ 22 บริเวณประตูหลังวัดพรหมวงศารามได้ยินในทุกเช้า

เมื่อมองตามไปที่ต้นเสียงก็พบรถซาเล้งคันเก่าสีแดงเขรอะคราบสนิม ภายในเต็มไปด้วยกองอาหารบรรจุถุงหลากหลายชนิด เรียกได้ว่าภูเขาลูกย่อมเลยทีเดียว บริเวณรอบรถมีฝูงชนจำนวนหนึ่งห้อมล้อมอยู่ กะประมาณด้วยสายตาน่าจะมีสัก 13-15 คนเห็นจะได้.....

เหตุ...ดับศรัทธา

ในวันพรุ่งนี้เป็นวันเกิดของสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ หอข่าว เราตกลงที่จะไปฉลองวันเกิดกันด้วยการไปใส่บาตร แต่เนื่องจากเป็นช่วงการทำงานอย่างหนักของกองบ.ก.หอข่าวเรา โครงการที่ตั้งใจจะไปทำบุญต่างจังหวัด เพื่อของแถมเป็นบรรยากาศดีดี กับภาพติดกล้องสวย ๆ เป็นอันต้องล้มเลิกในทันที

“วัดหลวงพ่อเณร หลังมอนี่แหละ ”
นั่นคือคำตอบของเรื่อง วัดหลวงพ่อเณร หรือวัดพรหมวงศาราม คือจุดหมายของกิจกรรมทำบุญวันเกิดสมาชิกหอข่าวเรา

บริเวณประตูหน้าวัดในซอยประชาสงเคราะห์27 คือจุดวางอาหารบรรจุถุงที่จับจ่ายมาจากตลาดห้วยขวาง สื่อบุญจากความตั้งใจ

7.30 น. กิจกรรมใส่บาตรของเราเสร็จสิ้นลง แต่เพราะทางเดินจากซอยประชาสงเคราะห์ 27ถึงมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มันไกลกว่าทางเดิน จากซอยประชาสงเคราะห์22 เราจึงเดินไปประตูหลังวัด เพื่อกลับมหาวิทยาลัยในทางที่ใกล้กว่า

“ เฮ้ย! เขามุงไรกันอะ ”

ไม่มีเสียงตอบสำหรับคำถาม แต่พลันสายตาของพวกเราก็พบกับคนคุ้นเคยที่เดินออกจากกลุ่มคนเหล่านั้น ‘ป้าหวัง’ หรือนางสมหวัง สดคำปัง พนักงานแม่บ้านของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เดินหอบหิ้วถุงขนาดใหญ่ เรียกว่าเดินตัวเอียงมาทีเดียว

“ป้าหวัง ขนอะไรมาเยอะแยะครับ”

“กับข้าวจ๊ะ ซื้อมาจากรถซาเล้งตรงนั้น ”

“โห! แล้วซื้อมาทำอะไรตั้งเยอะ เท่าไหร่ครับนี่ หมดหลายตังค์สิป้า”

“เขาฝากซื้อ แพงที่ไหน ทั้งถุงนี้ 40 บาทเอง เขาเอาของจากบาตรพระมาขาย”

สิ้นเสียงบอกเล่าจากป้าหวัง ผมและเพื่อนเจ้าของวันเกิด จากหน้าสดอิ่มบุญ ก็เปลี่ยนเป็นเฉาลงแบบทันตา จะไม่ให้รู้สึกเฉาลงได้อย่างไรกัน ก็ของที่เราทำบุญกันหน้าวัด ถูกขนย้ายสู่หลังวัด แปรรูปเป็นเงินเข้ากระเป๋าพ่อค้าเสียแล้ว

เริ่มต้นการสืบสวน

จมูกไวต่อข่าว ( a nose for news) คือ 1 ใน 15 ข้อของคุณสมบัตินักข่าวที่ดี จากข้อนี้เอง เช้าวันรุ่งขึ้น เวลา 05.30 น. เป็นอีกปรากฏการณ์ของทีมหอข่าวเราคือการตื่นเช้ามาตามข่าว

6.30 น. ทีมผู้สื่อข่าว “หอข่าว” บนรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างตามท้ายรถตุ๊กตุ๊ก ที่บรรทุกพระสงฆ์ 1 รูปมุ่งหน้าสู่ ตลาดสดห้วยขวาง นาทีนี้สองข้างถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เบ่งบานไปด้วยรอยยิ้มอิ่มบุญ ของพุทธศาสนิกชน ผู้ศรัทธาต่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกแววตาต่างมุ่งหวังให้บุรุษผ้าเหลืองนามว่า ‘สงฆ์’ เป็นสื่อกลางส่งต่อแรงศรัทธาสู่พุทธองค์

7.45 น.รถตุ๊กตุ๊กทั้งคันเต็มไปด้วย อาหารจากการทำบุญ จนล้นออกมานอกคัน พระเพียงรูปเดียวกับอาหาร 1 คันรถ มีความเป็นไปได้ต่ำ ที่พระสงฆ์จะสามารถฉันของที่ได้มาจนหมด
ที่วัดหลวงพ่อเณร ทีมนักข่าว “หอข่าว” อีกทีมได้ประจำการณ์รออยู่แล้ว รถตุ๊กตุ๊กคันดังกล่าววิ่งเข้าสู่วัด พุ่งตรงไปยังศาลาหลังวัดในทันที เด็กวัดหลายคนช่วยกันลำเลียงของลงจากรถในทันที ส่วนพระสงฆ์ ก็เดินมาเลือกอาหารพอที่จะฉันและเดินกลับไปที่กุฏิ ทันที

ทีมนักข่าวหอข่าว ยังคงเดินวนเวียนอยู่ในวัด แสร้งว่าเป็นแขกที่มาร่วมงานบวชพระใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวัด ระหว่างนั้น ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับ นางชูจิตร บุญบัญชาโยมอุปฐากประจำวัดหลวงพ่อเณร เธอเล่าว่า

“ ของส่วนใหญ่ที่ได้จากการบิณฑบาตรนั้นพระท่านจะยกให้ เด็กวัดเอาไปแบ่งกัน พระเขาหยิบไปแต่พอฉัน ”

เวลา 8.15 น. ภาพที่ทำให้ทีมข่าวทุกคนถึงกับตะลึงคือ เริ่มมีเด็กวัด ซึ่งดูจากอายุไม่น่าจะเรียกว่าเด็ก เพราะแต่ละคนอายุไม่น่าจะต่ำกว่า 30ปี ยิ่งกว่านั้น บางคนยังสวมใส่ชุดพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งทุกคนบ้างก็หิ้วกระสอบใส่อาหารถุงจนเต็ม บ้างก็หอบหิ้วถังสังฆทานที่ล้นไปด้วยอาหารจากบาตรพระ

เด็กวัดที่อายุไม่เด็ก ทะยอยเดินออกจากวัดทางประตูหลัง บริเวณซอย ประชาสงเคราะห์ 22 ซึ่งตอนนี้เอง ที่ถึงจุดเฉลยว่าแท้จริงแล้ว อาหารที่ป้าหวัง หอบหิ้วถุงโตจนตัวเอียง ในราคา 40 บาท มีที่มาเป็นอย่างไร

นายจวบ พ่อค้าคนกลาง ที่สวมวิญญาณเสือ(นอนกิน)บนรถซาเล้งคันแดง รอรับของจากบาตรพระซึ่งขนส่งโดยทีมมดงานพันธุ์เด็กวัด ภาพสะท้อนใจ “หอข่าว” ทุกคนอีกอย่างคือ อาหารทั้งกระสอบ ท่าทางการขนส่งที่ไม่อาจเรียกได้ว่าถือ แต่มันคือการแบก

พ่อเสือลายบาปควักเงินเป็นค่าตอบแทนให้มดงานเป็นธนบัตรใบสีแดง อนิจจา อาหารทั้งกระสอบนี้น่าจะจำหน่ายได้ราคากว่าพันบาท แต่กลับแลกเงินได้จริงเพียง 100 บาทหรือ

ผู้สื่อข่าวซุ่มดูสถานการณ์อยู่หลังหอพักแห่งหนึ่ง และเดินวนเวียนอยู่บริเวณที่มีการขายอาหารอยู่หลายวัน เพื่อเจตนาให้ พ่อค้าคนดังกล่าวคุ้นชินกับหน้าตา จนเข้าถึงวันที่4 ผู้สื่อข่าวพร้อมเทปบันทึกเสียงในกระเป๋าเสื้อ จึงเดินเข้าเป็นหนึ่งในลูกค้าของนายจวบทันที

“ขายยังไงนี่ลุง”

“เลือกเอาเหอะ เอาให้พอใจ ลุงคิดไม่แพง”

ถุงพลาสติก ขนาดกลางและเต็มไปด้วยข้าวปลาอาหาร ทั้งคาวหวาน กว่า 15 ถุง ประมาณราคาตามท้องตลาดน่าจะซัก 200 บาท

“เอาแค่นี้จะพอเหรอ”

ด้วยความที่ผู้สื่อข่าวกลัวว่าเงินที่เตรียมมาจะไม่พอจ่ายค่าอาหาร จึงตอบไปในทันทีว่า

“พอครับ พอแล้ว เดี๋ยวจะกินไม่หมด”

“เอาแค่ 20 บาท”

“ทำไมถูกจังเลยครับลุง”

“ถ้าราคาไม่ถูกใจ ลุงจะขายมาตั้ง 3ปี เหรอ” (ฮ่าๆๆๆ)

เวลา 3 ปีกับรายได้จากธุรกิจศรัทธา อย่างนี้ไม่ใช่หรือที่เรียกว่า ‘บาป’ นายจวบเล่าให้ฟังอีกว่า ตนสามารถสร้างได้จากธุรกิจนี้ กว่า 2หมื่นบาท ต่อเดือน

จะมียี่ปั๊ว(พ่อค้าคนกลาง)ใดในไทยที่ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงต่อวันแต่สามารถสร้างรายได้ กว่า 2หมื่นต่อเดือน

เสียงสะท้อนจากคนหาเช้าไม่พอกินค่ำ

อีกเสียงหนึ่ง ที่ฟังแล้วแล่นเข้าสู่ใจของผู้สื่อข่าวทุกคนในทีมคือเสียงของยายวิบูลย์ กริ่มประโทน สาวร่างเล็กวัยกว่า 70 ปี ริ้วรอยที่ปรากฏอยู่ทั่วร่าง หลังที่เริ่มค่อมลงจากอายุที่มากขึ้น จ้วงมือที่สั่นเทาลงในกอง หยิบยื้ออาหารมาใส่ถุงอย่างเชื่องช้า คิดว่าคงหยิบพอกินทั้งวัน นายจวบคิดราคาให้กับเธอเพียง 5 บาท
ถ้ามองกันเผินๆ นี่คงเป็นความดีเดียวที่เราทุกคนมองเห็นจากพ่อค้าคนเก่งในช่วงเวลานี้ แต่จริงๆ แล้วยายวิบูลย์ ควรได้อาหารบุญนี้ฟรีถึงจะถูก

ยายวิบูลย์ เล่าว่า เธอมีอาชีพเก็บของเก่า อยู่ในบริเวณประชาสงเคราะห์ ทุกเช้าเธอจะมารอซื้ออาหาร ก่อนออกไปเก็บขยะขาย นาทีนี้เรารู้ได้ทันทีว่าผิวดำที่แห้งกร้านของเธอมีที่มาจากอาชีพที่เธอทำ

“ถ้าไม่มีของถูกอย่างนี้มาขาย แล้วยายจะมีข้าวที่ไหนกิน ขายของทั้งวันยังได้ไม่ถึง 20 บาทเลย”
ถ้าไม่มีขบวนการอุบาทว์นี้ 5บาทของยายวิบูลย์ ควรเป็นค่ายาในยามป่วยมิใช่หรือ

ขณะที่นายธนู การประกอบ ช่างก่อสร้างที่มาเลือกซื้ออาหาร ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากที่ตนอพยพครอบครัวมารับจ้างในกรุงเทพมหานคร ค่าใช้จ่ายในครอบครัวก็สูงขึ้น แต่การมาซื้อออาหารราคาถูก ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของครอบครัวลงได้มาก

เสียงวิพากษ์จากผ้าเหลือง

พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กลฺยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว พระนักเทศน์ชื่อดัง แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การกระทำเช่นนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิด จัดว่าเป็น มิจฉาวนิชชา คือ อาชีพที่ชาวพุทธไม่ควรทำ เป็นการค้าขายที่ผิดและไม่ชอบธรรม

“ ของจากการบิณฑบาตร ที่ไม่เอาไปทำประโยชน์ แต่กลับปล่อยให้มีการหากำไรส่วนตัว อย่างนี้พระเอง ก็ไม่สมควรบิณฑบาตรเอามาก ถ้าจะให้ดีควรเอาของที่เหลือจากฉันไปสงเคราะห์ให้คนที่ยากไร้จึงจะดี ”
นอกจากนี้พระพยอมยังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ต้องโทษที่ประชาชนไร้วิจารณญาณ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ทำให้วงจรแบบนี้ยังดำเนินอยู่ได้

ด้านพระศรีญาณโศภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระรามเก้า กาญจนาภิเษก ให้ความเห็นว่าบรรดาญาติโยมที่มาใส่บาตร ยังคงได้บุญ เพราะของที่ได้มาเป็นของบริสุทธิ์ ผู้รับและผู้ให้ได้บุญแน่นอน

ในฐานะที่เราทุกคนเป็นชาวพุทธ มีหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาเดียวในโลกนี้ที่เริ่มต้นวันใหม่ด้วย ‘การให้’ เห็นได้จากเมื่อยามฟ้าสางวันใหม่

คนไทยใจบุญมักเตรียมข้าวร้อนแกงอุ่นมัดถุงรอใส่บาตร อย่างศรัทธาด้วยหัวใจ เพราะพวกเขาต่างมีสำนึกเป็นหนึ่งเดียวกันว่า การตักบาตรเป็นการให้ที่ดีที่สุด เพราะต่างคนต่างได้ ด้วยใจศรัทธา การให้ข้าวปลาอาหารที่ถูกตอบแทนด้วยการให้เป็นพรกลับมา ทำให้ศรัทธาก่อเกิดฝังรากหยั่งลึก เป็นบุญกุศลที่ติดตัวเรื่อยไป

อย่างนี้ถึงจะเรียกได้อย่างเต็มปากว่า ‘บุญ’

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น