วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

‘ เวียนวัว ’ ทัวร์งานบุญ หนุนการค้าฆ่าเสรี




คนไทยยืนใต้ร่มเงาพุทธ ต่างศรัทธาและสรรหาการทำบุญในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองความเชื่อที่ว่า การทำบุญให้ทานสร้างกุศลเป็นหนทางก้าวขึ้นสู่สรวงสวรรค์เมื่อหลังสิ้นลมหายใจ กระทั่งโครงการไถ่ชีวิตโค-กระบือ ถือกำเนิด จึงเกิดเป็นกระแสการทำบุญให้ทานในรูปแบบใหม่ และ กำลังเป็นที่นิยม แพร่หลายในยุคปัจจุบัน


ทว่าการทำทานไถ่ชีวิตโค-กระบือ กลับเป็นที่มาของกระบวนการบาป ในขณะที่สังคมไทยประสบภาวะเศรษฐกิจซบเซา คนบางกลุ่มจึงไม่คำนึงถึงความถูกผิด เพื่อแลกกับเงินตราหาเลี้ยงกาย ด้วยการใช้วัวหนึ่งตัว เวียนไถ่ซ้ำไปในหลายงาน หลอกใช้ความศรัทธาประชาชนเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง อีกทั้งการไถ่ชีวิตที่ไม่ใช่การให้ชีวิตอย่างแท้จริง ...สุดท้ายบั้นปลายของวัวและควายต้องเวียนสู่โรงฆ่าสัตว์อีกครา

‘ บาปในรอยบุญ ’ สิ่งที่มองเห็น คนอื่นอาจไม่เห็น

วัวหน้าเสี้ยม ผิวเกรียมกร้านแดด ยืนให้แสงแผดเผาอย่างเลือกไม่ได้ เมื่อยามที่เจ้าสัตว์สี่เท้าร่างใหญ่ ยืนย่ำอยู่บนรถกระบะคันโทรม รอเวลาปลดปล่อยพันธนาการที่ถูกจองจำจากโรงฆ่าสัตว์ สู่พิธีกรรม ไถ่ชีวิตโค-กระบือ แววตากลมโตดำขับที่หวาดหวั่น หันซ้ายแลขวา มองหน้าผู้คนที่ไม่คุ้นเคย พลางซักถามมนุษย์ด้วยเสียงดัง มอ มอ โดยได้คำตอบที่ปราศจากความเข้าใจ เพราะเราคุยภาษาที่ต่างกัน เสียงเพรียกกึกก้องนั้นจึงดังอย่างแผ่วเบา


‘ แล้วเจ้าวัวตัวเศร้าไปไหน เมื่อการไถ่ได้เสร็จสิ้น ’ จากความสงสัยกลายเป็นความอยากรู้ จึงเริ่มต้นจากต้นตอ ‘โรงฆ่าสัตว์’ สถานที่ตัดสินชะตาชีวิต บรรดามิตรสหายร่วมโลกที่ต้องตายตามรายการสินค้าสั่งซื้อ เป็นอาหารมื้อต่างๆของมนุษย์ อย่างไม่จบสิ้น ผู้เขียนจึงได้เดินทางไปยังโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งซึ่งไม่มีชื่อระบุไว้ ในจังหวัดปทุมธานี


นับจากก้าวแรกที่เดินย่ามกรายเข้าบริเวณโรงชำแหละ กลิ่นสาบมากมายได้ลอยเข้ามาปะทะกับจมูก ฝ่าฝูงชนคนน่ากลัว เดินหวาดหวั่นแสร้งเข้าไปติดต่อขอซื้อวัวกับทางโรงฆ่า โดยสอบถามถึงเรื่องราคา ว่าสามารถซื้อได้ในราคาใดบ้าง


“ 14,000 สำหรับวัวตัวผู้ ” นี้เป็นเสียงตอบกลับมาจากปากพี่ภูเจ้าของโรงฆ่าสัตว์ขนาดย่อม เป็นที่น่าตกใจว่าราคาสูงริบลิ่วจากมาตรฐานราคาวัวที่แท้จริงจากที่สำรวจมา ดูแล้วตัวนี้อยู่ในราคา 7,000 - 8,000 บาทเท่านั้น ในขณะที่กำลังมองหน้าเจ้าวัวตัวเปรอะเปื้อน ในตาคลอน้ำใส พี่ภูก็เสนอกับเราพลางยิ้มแย้มว่า




“ เอาไปเป็นคู่ซิ เขาไถ่กันเป็นคู่ๆ ทั้งนั้น เดี๋ยวมันเหงา ” ผู้เขียนได้แต่ส่งยิ้มใจสั่น ไม่ขอตอบอะไรทั้งสิ้น
มองสิ่งรอบตัว ไม่เห็นถึงความเมตตาจากคนในสถานที่นี้แม้แต่น้อย แม้กระทั่งเด็กสาวตัวจ้อยคอยวิ่งเล่นข้ามรอยร้อยศพแบบไม่รู้สึกรู้สา เด็กตัวน้อยที่จะดำเนินตามรอยพ่อของตนในภายภาคหน้า แลดูสภาพวัวที่ยืนแออัดกันในคอกเรียงคิวสู่ขั้นตอนประหารทั้งที่ไม่ได้ทำผิดประการใด กลับต้องตายเพื่อกลายไปเป็น สเต็ก หรือ ลูกชิ้นเนื้อ และอีกมากมายที่มนุษย์จะสรรหาไปประกอบอาหารเพื่อความสำราญปากท้อง มองวัวที่ยืนอัดกันอยู่ในคอกโสมมนั้น มีแค่ก้านไม้ไผ่ตอกกั้นเส้นตาย ระหว่างความเป็น และการฆ่า ที่มีเศษไขมัน โครงกระดูก และเลือด ที่ยังล้างไม่เกลี้ยงนองอยู่บนพื้น


พี่ภูเล่าว่า วัว และ ควายที่ได้มา ตนซื้อมาจากทางอีสาน ตามตลาดนัดวัว ควาย บางทีรับซื้อจากชาวบ้านที่เลี้ยงโคเนื้อเพื่อขายให้กับทางโรงฆ่าสัตว์โดยเฉพาะ ส่วนด้านของคนที่มาขอซื้อวัวเพื่อไถ่ก็มีมาเสมอ และยินดีบริการส่งวัวให้แก่ชาวบ้านหลังเสร็จสิ้นพิธีการไถ่ด้วย ในราคาไม่แพง ผู้เขียนจึงได้แสดงตัวไปว่าสนใจ แต่อันที่จริงคิดว่ามันเสมือนการค้าเสรีอย่างไงชอบกล ที่คนเราอยากทำทานให้ได้บุญด้วยการไถ่ชีวิตโค-กระบือ จากโรงฆ่าสัตว์ กลับกลายเป็นว่ากำลังอุดหนุนธุรกิจพวกเขา เอากำไรคำโตให้เสียมากกว่าการไถ่ชีวิตเหล่านั้น


ปาณาติบาต บาปจากการประทุษร้าย การก้าวล่วงเบียดเบียนชีวิตสัตว์ให้ตกไป ก่อนที่จะถึงกำหนดอายุขัยของตน ตัดรอนชีวิตของสัตว์ให้ตาย และสัตว์นั้นตายด้วยความพยายาม ถึงแม้โรงฆ่าสัตว์จะเป็นธุรกิจการค้าเนื้อประเภทหนึ่ง แต่ก็ดำเนินการไปด้วยความบาป โรงฆ่าสัตว์นั้นจึงไม่มีจิตใจเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก ฉะนั้น ความคิดต่อพิธีกรรมไถ่ชีวิตโค-กระบือ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้เงินมาโดยไม่ต้องออกแรงให้เหนื่อย


จากโรงฆ่าสัตว์ ทำให้เข้าใจลึกซึ้งกว่าเดิม ถึงการมีอยู่ของชีวิต เราได้แต่คิดอยากช่วยพวกเขา แต่ไม่อยากสนับสนุนการค้าของเจ้าของโรงฆ่า ได้แต่คิดแบบเด็กๆ ว่าอยากลักลอบแหกคอกให้วัวหนีตอนกลางคืนไปเสีย ซึ่งในความเป็นจริงไม่อาจทำได้ จึงบอกช่วยพวกเขาได้แค่ลมปาก และการกระทำคือการละเว้นจากการทานเนื้อ ซึ้งเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของการไถ่ชีวิตโค-กระบือ หากเราไม่บริโภค ก็จะไม่มีรายการสั่งฆ่าไปยังโรงฆ่าสัตว์ และนั้นคือวิถีทางการปลดปล่อยที่แท้จริง

‘ จากความสงสาร สู่การให้ทานชีวิต ’

คุณพงษ์ชัยทัศน์ วณฺชย์กุล หรือ น้าอ๊อด ผู้ก่อตั้งกองธรรมพระศรีอารย์ (องค์กรเอกชนเพื่อการไถ่ชีวิตโค-กระบือ) และเป็นอุปนายกสมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย) ได้บอกกับเราว่า โครงการไถ่ชีวิตโค-กระบือ เกิดขึ้นมาเพราะความสงสาร ด้วยความที่สัมผัสกับวัวและควายมานาน จึงได้เห็นขั้นตอนการฆ่าที่ทารุณ จนทนไม่ได้เลยตัดสินใจตั้งโครงการไถ่ชีวิตโค-กระบือ ขึ้นมา เพราะหากเปรียบเทียบกับ หมู เป็ ด ไก่ วัว และควายลำบากและทรมานมากกว่า รวมถึงตอนถูกฆ่าเพราะมีตัวขนาดใหญ่


ควายบางตัวถูกค้อนปอนด์ทุบเป็นสิบครั้งยังไม่ล้ม เป็นสิ่งที่ทรมานมาก ตัวที่จะถูกฆ่ารายต่อไปก็ยืนดูขาสั่นอยู่ใกล้ๆ ทรมานจิตใจ และน่ากลัว บ้างก็เอาลูกวัวมาทุบหัวแล้วเชือดคอไปเสียบไม้ย่างทำเป็นวัวหันกินแกล้มเหล้า ในงานบวช งานแต่ง งานสำคัญทางศาสนา ไม่รู้ว่าเป็นชาวพุทธประเภทไหนกัน


น้าอ๊อดได้เล่าถึงการเดินทางที่ทรมานของเหล่าวัว ควาย ให้ฟังอีกว่า พวกเขามาจากที่ต่างๆกัน ถูกต้อนขึ้นรถสิบล้อ วิ่งข้ามจังหวัดเป็นระยะทางหลายร้อยกิโล แดดร้อนจ้าอัดมาเหมือนปลากระป๋อง ทั้งร้อน ปวดเมื่อย และ หิวน้ำ บางตัวเชือกที่มัดไว้กับด้านข้างรถสั้นไปจมูกจึงฉีกขาด บ้างก็ล้มลงโดนเพื่อนเหยียบไปตลอดทาง กว่าจะถึงที่หมายตายไปก็มี


เมื่อเวลาที่ต้องถูกต้อนขึ้นรถ เพื่อขนเร่ไปตามตลาดนัด คนเหล่านั้นจะเอาเหล็กทิ่มแทง ไม้ตีขา ไฟฟ้าช็อต ไม่มีคำว่าปราณี ถ้าหากเดินทางมาจากพม่า ลาว หรือ จีน ความทรมานก็ยาวนานขึ้นไปอีก ไม่มีคำว่าเมตตา เพราะจุดหมายปลายทางของพวกเขาไปยังจุดเดียวกัน ...ลงเอยที่โรงฆ่าสตว์นั้นเอง


จากการที่ได้ผ่านการไถ่ชีวิตชีวิตโค-กระบือ มายาวนานกว่า 18 ปี น้าอ๊อดได้มองเห็นความยินดีของเหล่าวัว และควาย จึงทำให้ตนไม่หยุดยั้งการไถ่ชีวิต “ ผมได้ดื่มกินกับความรู้สึกที่งดงามนี้ แปรเปลี่ยนเป็นพลังผลักดัน ให้มโนปณิธานที่ตั้งไว้ตั้งแต่ปีแรกที่โรงฆ่าสัตว์จังหวัดชลบุรี ดำเนินต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ และขอวิงวอนเพื่อนมนุษย์ทุกคนแทนวัวและควายทุกตัวที่เขาพูดไม่ได้ ว่าหยุดเถิด หยุดกินเลือดเนื้อเขาเสียที เพราะนั้นคือต้นเหตุของความทุกข์ทรมานและการประหัตประหาร ” น้าอ๊อดกล่าว


‘ ไถ่โค-กระบือ กระแสฮิต ... เกิดเป็นพิษต่อสังคม ’

ปัจจุบัน การทำบุญไถ่ชีวิตโค-กระบือ ยังคงเป็นที่นิยมแพร่หลาย อาจเป็นเพราะความง่ายต่อการบริจาค ที่มีกล่องรับเงิน ตามโรงพยาบาล หรือ สถานที่ต่างๆ ให้ผู้คนได้หยอดคนละร้อยสองร้อย บ้างก็จัดกันเป็นโครงการใหญ่โต ให้คนมาร่วมบริจาค บ้างก็กรมปศุสัตว์ บ้างก็ทางโรงฆ่าสัตว์ตั้งสถานที่ให้บริจาคเอง อย่างเช่น โรงฆ่าสัตว์เทศบาลปทุมธานี และ โดยเฉพาะทางวัดที่อินเทรนติดกระแส ในเรื่องนี้


น่าเศร้าที่การติดตามผลจากโครงการทั่วไปไร้ประสิทธิภาพ น้าอ๊อดบอกกับเราว่า เมื่อหลายปีก่อน ได้ฝากฝังการติดตามผลให้กับทางกรมปศุสัตว์ เมื่อได้มอบวัว- ควาย ให้กับทางเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว คนที่ดูแลต่อจากนั้นต้องเป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ คอยรับแจ้งการเป็นอยู่ของวัว-ควาย แต่ปรากฎว่ากรมปศุสัตว์ได้ฝากงานให้กับผู้ใหญ่บ้าน หรือองการบริหารส่วนตำบลคอยดูแล


แต่ด้วยผลประโยชน์ทางการเมือง จึงทำให้เรื่องติดตามผลความเป็นอยู่ของวัว-ควาย กลายเป็นเรื่องที่มองข้ามไป ด้วยความที่ต้องรักษาคะแนนเสียงของตนเองไว้ ชาวบ้านจะนำวัว-ควาย ไปขาย หรือ ได้มีการตายเกิดขึ้น เรื่องนี้ก็จะไม่มีคนใส่ใจอะไร


นอกจากนี้ เรื่องที่ชาวบ้านจะนำวัว-ควายไปขายต่อนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแน่นอนอยู่แล้ว เพราะการติดตามผลเป็นไปได้ยาก เรียกว่าไม่ได้เลยเสียด้วยซ้ำ เพราะชาวบ้านมักนำวัว และควายไปเลี้ยงตามป่าเขา จึงติดตามได้ยาก ส่วนน้าอ๊อดได้เปลี่ยนไปบริจาคให้ทางโรงเรียนซึ่งสามารถติดตามและรายงานผลได้


ป้าใจ หญิงวัยกลางคนในงานไถ่ชีวิตโค-กระบือ ที่ทางการบินไทยจัดขึ้นมาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2553 ได้บอกกับผู้เขียนว่า ตนสงสารวัว อยากช่วยแต่ไม่มีเงินมากพอที่จะไถ่วัวทั้งตัว พอมีโครงการไถ่ชีวิตโค-กระบือจัดขึ้นมา เลยเต็มใจที่จะร่วมด้วย ได้ทำบุญสะเดาะเคราะห์กรรม มีความสะดวกในการทำบุญ และ สบายใจมากขึ้น


ผู้เขียนเชื่อว่ามีคนอีกมากมายคิดเห็นตรงกับป้าใจ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นโครงการไถ่ชีวิตโค-กระบือ มากมาย ผุดขึ้นมาเรียกความเมตตาจากคนได้ไม่น้อย โดยไม่คำนึงถึงเรื่องการติดตามผลหลังการไถ่ ว่าโค-กระบือ จะไปยังทิศทางใด เพียงเพราะคิดว่าได้ทำทานไปแล้ว สบายใจได้บุญก็จบกัน


ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้ลองถามคนท้องถิ่นในจังหวัดสุพรรณบุรีถึงเรื่องการไถ่ชีวิตโค-กระบือ ซึ่งเป็นที่น่าตกใจ โดยลุงเฉลียว ชาติทอง ได้บอกกับผู้เขียนว่า โครงการไถ่ชีวิตดังกล่าว มีเรื่องของการหลอกลวงแฝงอยู่ โดยการใช้วัวตัวเดิมในการไถ่หลายสถานที่ ที่มีการจัดงานบุญ ซึ่งเป็นการเรี่ยไรเงินซ้ำๆ


“ มันเป็นเรื่องธรรมดา พวกที่มันหากินกับวัด ไม่คิดถึงบุญ บาป อะไรหรอก คิดถึงแต่เงิน ที่จะได้มากกว่า ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้ทำอะไรได้เงินก็เอา แล้วไม่มีใครไปเอาผิดมันจะไปเกรงกลัวอะไรกับบาป บุญ ที่มองไม่เห็น ” ลุงเฉลียวทิ้งท้ายไว้ให้คิด


เรื่องดังกล่าวที่ได้ยินมาจากลุงเฉลียว ผู้เขียนจึงได้ปรี่เข้าหา ลุงสุพจน์คนขับรถส่งโค-กระบือ ประจำมูลนิธิบุญยัง เทียมจิต ด้วยลูกไม้เดิมๆที่ว่า จะขอติดต่อไถ่ ชีวิตโค-กระบือ ถามไปถามมาก็เฉไฉเข้าเรื่องที่ว่ามีการเวียนวัวบ้างไหม กลัวทำบุญไปแล้วถูกหลอก ลุงสุพจน์ได้ปฏิเสธทันควัน

“ ไม่ครับ มูลนิธิที่ลุงทำอยู่ก็มีชาวนาพาลุงไปบ้านโดยตรง แต่ถ้าโครงการอื่นลุงก็เคยได้ยินมาบ้าง ”


“ ลุงพอจะบอกได้ไหมคะ หนูจะได้ระวังเอาไว้ ”


“ ลุงคงบอกไม่ได้ แต่มีรถแถวสุพรรณบุรี ที่ไถ่เสร็จจากวัดมาแล้ว มาทำพิธีที่ ที่ลุงทำอยู่ก็มี ”

สมมติฐานได้กลายเป็นความจริง นอกจาการไถ่ชีวิตโค-กระบือ แล้วมอบให้กับทางเกษตรกรกลับต้องพบการลักลอบนำออกขายเพื่อฆ่าเอาเนื้อ ยังเจ็บไม่เท่าการหลอกลวงคนเช่นนี้เลย

‘พระพะยอมชี้แนะ ใคร่ครวญก่อนนำออกให้ ’

จากการเหนื่อยใจในเส้นทางสายบาป จึงได้เดินทางมาชำระล้างจิตใจ และถือโอกาสถาม พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กลฺยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว พระนักเทศน์และนักพัฒนา ต่อด้วยเรื่องของการเวียนวัว ซึ่งท่านได้เปิดฉากบทสนทนาอย่างเข้มข้นว่า “ ชั่ว ! เวรกรรมมันตามเร็ว ดูอย่างวัดกู้ ใช้วัวตัวเดียวนี้แหละ ไถ่ซ้ำไปซ้ำมา จนกรรมตามสนอง เดี๋ยวนี้โครงการไถ่ชีวิตโค-กระบือ เละมาก คนไปซื้อวัวไม่ได้สนใจดูวัวว่ามันจะเป็นอย่างไร ทางโรงฆ่าสัตว์มันก็เลือกเอาตัวที่เจ็บป่วย หรือ แก่มาให้ พอเลี้ยงไม่ถึงเดือนมันก็ตาย ”


ท่านได้กล่าวอีกว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการหลอกลวง เอาเปรียบ เป็นการหาเงินเข้าวัดโดยการโกง ทางพระพุทธศาสนาเขาเรียกว่า อเนสนา คือ การหาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควรแก่ภิกษุ , เลี้ยงชีวิตผิดสมณะ เช่น หลอกลวงเขา ใช้เงินลงทุนหาผลประโยชน์ ต่อลาภ การให้แต่น้อยเพื่อหวังตอบแทนมาก


เป็นการทำมาหากินจากศรัทธาประชาชนที่ไม่ฉลาด ไม่รอบคอบ หากจะทำบุญควรดูให้รอบคอบ ต้องดูว่าวัดไหน โครงการไหนทำจริง มีการติดตามผลไหม ปัญหาคือประชาชนทำบุญโดยไม่ใช้วิจารณญาณ คนให้เก่งพระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญ แต่สรรเสริญคนที่ใคร่ครวญดีแล้วนำออกให้ “ อย่าไปเชื่อมงคลตื่นข่าว ไม่ทำบุญนอกศาสนา ให้ทำบุญอย่างฉลาด ใคร่ครวญก่อนทำ ” พระพยอมเตือนสติทิ้งท้าย


เมื่อการที่เรามีจิตเมตตา กลายเป็นสิ่งยั่วยุให้กับวงการสายบาป เดี๋ยวนี้ผู้คนร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือ ต้องระวังให้มาก นอกจากการไถ่ไปแล้วเวียนกลับมายังโรงฆ่าสัตว์ ช้ำใจหนักที่เหล่าวัว และควาย ต้องตกเป็นเครื่องมือทำมาหากินของพวก มิจฉาอาชีวะ คือ พวกประกอบอาชีพที่ไม่ถูกไม่ควร หาเลี้ยงชีพในทางทุจริต ผิดวินัย หรือ ศิลธรรม เช่น โกง การหลอกลวง


ประเทศเต็มไปด้วยคนโกง สังคมรายล้อมไปด้วยความลวงหลอก มันล่องลอยอยู่ทุกอณูของอากาศ ใครละที่จะใส่หน้ากากได้ทัน หากยังไม่มีกระแสเตือนภัย เราจึงถูกหลอกก่อนหยั่งรู้เสมอ มนุษย์คุ้นชินและสัมผัสสิ่งเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้จนบางคนเอนเอียงที่จะเป็นเชื้อโรคตามไป และบางคนช้ำหนักเพราะโรคหลอกลวง ใครก็รักษาอาการบาดเจ็บนี้ไม่ได้ นอกเสียจากความจริงที่เราต้องยอมรับ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น