วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แฟชั่นเลี้ยงปลาทะเลเถื่อน ขายเกลื่อนเจเจ

5 อันดับปลาทะเลยอดนิยม


ซากปลาสวยงามที่ตายเพราะน้ำมือมนุษย์

เส้นทางการจับปลาทะเลสวยงาม



แฟชั่นเลี้ยงปลาทะเลเถื่อน ขายเกลื่อนเจเจ “ดร.ธรณ์” แฉขบวนการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ระบุนายทุนจ้างชาวเลลักลอบจับกลางทะเล ยันผิดกฎหมายทำลายการท่องเที่ยว “แฟนพันธุ์แท้ปลาทะเล” เผยปลาถูกจับอัตราการตายสูง เหตุเพราะปลาเครียด วอนผู้เลี้ยงศึกษาให้ดีก่อนซื้อ “ผอ.ฝ่ายมาตรการกรมประมง” รับควบคุมการลักลอบจับปลาได้ไม่หมด บอกหน้าที่ไม่ได้มีอย่างเดียว


วัยรุ่นฮิตเลี้ยงปลาทะเล


ขณะนี้แฟชั่นการเลี้ยงปลาทะเลสวยงามกำลังเป็นที่นิยมกันมากในกลุ่มวัยรุ่นที่มีฐานะทางครอบครัวดีเนื่องจากการเลี้ยงปลาทะเลสวยงามใช้ทุนในการเลี้ยงค่อนข้างสูงและหาซื้อง่ายตามร้านค้าสัตว์เลี้ยงย่านสวนจตุจักรและในเว็บไซด์ ส่วนมากวัยรุ่นจะนิยมเลี้ยงพวกปลาการ์ตูน ปลาสิงโต ปลาผีเสื้อ และปลาตระกูลแทงค์ (Tang) อาทิ บลูแทงค์(Blue Tang )เยลโล่แทงค์ (Yellow Tang)
จากการลงพื้นที่สำรวจ สวนจตุจักรซึ่งเป็นแหล่งขายปลายอดนิยมที่ผู้เลี้ยงนิยมไปซื้อปลาทะเลสวยงาม พบว่า มีร้านค้าที่เปิดขายปลาทะเลสวยงามประมาณ 28 ร้านค้า ซึ่งแต่ละร้านจะมีขายปลาที่นำเข้าจากต่างประเทศ และสั่งจากทางใต้ของประเทศไทยโดยปลาที่มาจากต่างประเทศจะมีราคาสูงกว่าปลาในประเทศไทย



ผู้สื่อข่าวหอข่าวรายงานว่า การเลี้ยงปลาทะเลต้องมีการลงทุนสูงในด้านอุปกรณ์การเลี้ยง รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อมภายในตู้ให้เหมาะสมกับการเลี้ยงปลาทะเล อุปกรณ์ที่มีความจำเป็นต่อการเลี้ยงปลาทะเล เช่น ตู้ปลา สกิมเมอร์ (ตัวกรองเมือก) ชิลเลอร์ (ตัวทำความเย็นและควบคุมอุณหภูมิภายในตู้) อุปกรณ์ในการวัดค่าต่างๆ (ค่าความเค็มของน้ำ ค่าไนเตรท ไนไตร์ท และอุณหภูมิ) ไฟ แบ่งออกเป็นสองชนิด 1. หลอดฟลูออเรสเซนต์ 2. หลอดเมทัล ฮาไลด์ (Metal Halide Bulb) หินเป็น และทรายเป็น อุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต่อการเลี้ยงปลาทะเลให้อยู่รอดได้



นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงปลาทะเลมีการสอบถามหาข้อมูล พร้อมทั้งโชว์รูปตู้ปลาทะเลของสมาชิก รวมไปถึงการซื้อขายปลาและปะการังสวยงาม ในอินเทอร์เน็ตด้วย อย่างเช่น http://www.siamreefclub.com%20และ http://www.reefthailand.com/ ซึ่งในเว็บไซด์ได้มีการถามตอบปัญหาในการเลี้ยงปลาทะเล เช่น วิธีการรักษาปลาที่เป็นโรคจุดขาว หรือ การเลี้ยงปลาชนิดไหนดี รวมถึงบอกราคากลางของปลาบางชนิด เช่น ปลาตระกูลแองเจิ้ล (Angel) ที่มีราคาค่อนข้างสูง ส่วนการซื้อขายส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายระหว่างผู้เลี้ยงต่อผู้เลี้ยงเอง ซึ่งขายทั้งปลา ปะการัง ดอกไม้ทะเล และ อุปกรณ์ในการเลี้ยง



นางสาวพรทิพย์ เสาวภาค อายุ 19 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดเผยว่า ชอบซื้อปลาทะเลสวยงามเพื่อนำไปเลี้ยงเป็นงานอดิเรก เนื่องจากเห็นว่าปลาทะเลมีสีสันที่สวยงามและมีความแปลกตามเป็นที่ดึงดูดใจ จึงเข้าไปสอบถามร้านค้าถึงราคาและวิธีการเลี้ยงปลาทะเลสวยงามจึงอยากที่จะเลี้ยง


“ตัวเองคิดว่าราคาไม่แพง อย่างปลาการ์ตูนตัวละ 100 บาท เลี้ยงได้ไม่ยาก แค่มีตู้ปลาก็สามารถเลี้ยงได้แล้ว ตัวเองไม่ได้มีความรู้ทางด้านปลาทะเลมาก่อน แต่พยายามเลี้ยงตามคำแนะนำของผู้ขาย แม้ตอนแรกที่เลี้ยงปลาจะตายไปบ้างก็ตาม” นางสาวพรทิพย์กล่าว





นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวต่อว่า การเลือกซื้อปลาทะเลสวยงาม แต่ละครั้งจะพยายามถามผู้ค้าว่า ปลากินอาหารเม็ดหรือยัง ถ้ายังก็จะไม่นำไปเลี้ยง เพราะการฝึกปลาให้กินอาหารเม็ดนั้นผู้เลี้ยงมือใหม่จะไม่สามารถฝึกได้ หรือ ฝึกได้เป็นบางตัวเท่านั้น ซึ่งคำตอบที่ได้นั้นก็จะขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของร้านค้าด้วย


ด้านนายกุลณพฤกษ์ ชีวเกษม อายุ 25 ปี ผู้เลี้ยงปลาทะเลสวยงามกล่าวว่า ซื้อจากสวนจตุจักร บางร้านมีเชื้อโรคติดมาด้วย เช่น โรคจุดขาว โรคตัวเปื่อย ถ้าซื้อไปโดยที่ไม่ทราบก็จะทำให้ปลาที่เลี้ยงอยู่เดิมในตู้ปลาติดโรค ซึ่งโรคของปลาส่วนใหญ่จะเกิดจาก อุณหภูมิที่มีความเปลี่ยนแปลง หรือ ค่าความเป็นกรดเป็นด่าในน้ำมีค่าที่แตกต่างกัน ทำให้ร้านค้าบางร้านจำเป็นต้องใส่ยาเพื่อป้องกันโรค แต่ยาจะมีผลต่อสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังทำให้ตายไปด้วย เช่น กุ้ง ปะการังทุกชนิด ผู้ที่เลี้ยงเป็นงานอดิเรกจึงไม่นิยมใส่ยา เพราะส่วนใหญ่จะเลี้ยงปลาและปะการังด้วยในตู้เดียวกัน


ผู้เลี้ยงปลาทะเลสวยงามกล่าวต่อว่าถึงแม้ว่า การเลี้ยงปลาทะเลและปะการังสวยงามจะมีความผิดตามทางกฎหมาย แต่ คิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องจริงจัง เพราะเห็นว่าผู้ค้าสามารถขายได้อย่างโจ้งแจ้งผู้ซื้อ ก็สามารถเลี้ยงได้ โดยที่ไม่มีปัญหาอะไร



พ่อค้าเผยเส้นทางปลาทะเล


พ่อค้าปลาทะเลร้านแองเจิลฟิช ที่สวนจตุจักรกล่าวว่าปลาทะเลที่มาขายกันส่วนมากจะมาจากทางช่องแสมสาร จ.ชลบุรี ทางบ้านเพ จ.ระยอง มีชาวประมงในพื้นที่เป็นผู้จับ โดยการวางยาไซยาไนท์อ่อนๆ เพื่อทำให้ปลามึน และนำมาพักไว้ที่บ้าน จากนั้นจึงแพคใส่กล่องโฟมแล้วส่งขึ้นมาที่กรุงเทพทางรถทัวร์ นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย จะส่งมาทางเครื่องบิน ทั้งสองช่องทางจะรอคนมารับเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ



“การรับซื้อปลาจะมีสองอย่างคือซื้อจากชาวประมงที่จับปลาโดยตรง และซื้อผ่านพ่อค้าคนกลาง ถ้าซื้อกับชาวประมงโดยตรงจะได้ราคาถูกกว่า อย่างปลาการ์ตูนตัวละ 40 บาท ปลาสิงโตตัวละ 60 บาท กุ้งการ์ตูนตัวละ 350 บาท ปะการังเกือบทุกชนิดราคา 150 บาท พอนำมาขายหน้าร้านจะเพิ่มราคาได้อีกเป็นหลายเท่าตัว เช่น แอนนีโมน (ดอกไม้ทะเล) ราคาซื้อ 80 บาท แต่พอนำมาขายจริงๆได้ราคาถึง 250 บาท” ผู้ค้าปลาสวยงามกล่าว



พ่อค้าปลาทะเลร้านแองเจิลฟิช กล่าวต่อว่า ถ้าจะเลี้ยงปลาทะเลให้รอดนั้นต้องมีการลงทุนที่สูง เพราะปลาทะเลมีความไวต่อสภาพน้ำเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ค่าความเค็ม ก็จะต้องมีเครื่องมือวัดความเค็ม จะต้องมีอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ สกิมเมอร์ ไฟสำหรับให้แสงสว่างสำหรับตู้ปลาซึ่งจะเป็นหลอดไฟที่ทำขึ้นเฉพะและมีราคาค่อนข้างสูง น้ำทะเล หรือผู้เลี้ยงบางคนอาจจะใช้เกลือที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อเลี้ยงปลาทะเลโดยเฉพาะ โดยเฉลี่ยแล้วในการเลี้ยงปลาทะเลหนึ่งตู้จะใช้งบประมาณ 35, 000 - 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดตู้และอุปกรณ์ที่เลือกใช้



อีกด้านทางผู้ค้าปลาทางช่องแสมสาร จ.ชลบุรี ให้ข้อมูลในการจับปลาทะเลสวยงามว่า มีการส่งเรือออกไปจับปลาทะเลและปะการัง จับได้ปลาชนิดไหนมาก็เอาหมด ไม่มีการเลือกชนิดปลา จากนั้นจะโทรถามลูกค้าว่าต้องการปลาชนิดไหนและบอกว่าได้ชนิดไหนขึ้นมาบ้าง หรือบางครั้งลูกค้าจะโทรมาถามก่อนว่าอยากได้ปลาประเภทไหน จะออกเรือหาให้เป็นกรณีไป



“ดร.ธรณ์” ย้ำลักลอบจับปลาผิดกฏหมาย



ด้านดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีและอาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัย
เกษตรศาสตร์ และแฟนพันธุ์แท้ทะเลไทย ปี 2546 กล่าวถึงกรณีการลักลอบจับปลาทะเลสวยงามว่า ส่วนใหญ่เป็นการจับมาอย่างผิดกฎหมาย เพราะแนวปะการังที่อยู่อาศัยของปลามักจะอยู่ในเขตพื้นที่อุทยาน ทั้งในไทยและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเฉพาะทางการท่องเที่ยวที่สูญเสียมาก ถ้าไม่มีปลาเหล่านี้นักท่องเที่ยวก็เลิกสนใจจะดำน้ำ เปรียบเสมือนการทุบหม้อข้าวตัวเอง



“การจับปลาที่เป็นสมบัติของชาติ รวมถึงเป็นการทำลายการท่องเที่ยวอย่างไร้สติ ชาวมัลดีฟได้กล่าวเอาไว้ว่า ถ้าเราจับปลาฉลามขึ้นมาจากทะเลเพื่อประกอบอาหารเราอาจจะได้ราคาต่อจานประมาณ 20 เหรียญ แต่ถ้าเราปล่อยให้ฉลามอาศัยอยู่ในทะเลต่อไป เราจะได้ปีละ 2000 เหรียญ” รองคณบดีกล่าว



อาจารย์คณะประมงกล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวเป็นห่วงอะควาเรี่ยมมากกว่าร้านขายปลาทั่วไป เพราะ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ความต้องการในการเลี้ยง และความต้องการขายให้กับอะควาเรี่ยมมีเพิ่มมากขึ้น เมื่อไหร่ที่จับปลาก็เปรีบเสมือนการตัดวงจรแพร่พันธุ์ของปลา โอกาสรอดคือ 10 ตัว เหลือ 1 ตัว แม้จะมีการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน ก็ไม่สามารถเพาะได้มากเท่าปลาน้ำจืด เนื่องจากมีความยุ่งยากมากกว่าในด้านของการปรับน้ำ และการอนุบาลลูกปลาให้รอด



ดร.ธรณ์กล่าวต่อถึงการจับกุมดำเนินคดีว่า มีการจับกุมและตรวจตรามากขึ้นในเรื่องของการลักลอบจับปลาทะเลสวยงาม ส่วนการจับกุมมักจะจับได้ในเขตอุทยาน เขตผิดกฎหมาย หรือจังหวัดที่มีการจำกัดเขตสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา ที่ได้มีการจับเป็นจำนวนมาก แต่กฎหมายก็มีช่องโหว่คือ ต้องจับกุมขณะที่กระทำความผิด โดยจะเป็นการยึดของกลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อประมง และ ปลา ที่จับมาได้



“วิธีการจับปลาคือ ใช้เรือเล็กหลายลำ เรือใหญ่ลำเดียวโดยนายทุนจะ จ้างเรือหางยาวเล็กของชาวเลให้วิ่งจับปลาตลอด ส่วนเรือใหญ่ก็ให้จอดรอกับที่ และให้เรือเล็กจับปลานำไปรวมกันที่เรือใหญ่จะได้ประหยัด ถ้าจับได้ระหว่างที่กระทำผิดอยู่ก็จะยึดของกลางก็คือ เรือเล็กๆของชาวเล เจ้าของใหญ่ๆที่จ้างชาวเลเพื่อจับปลา เหมือนกับคนรวยไปจ้างคนจนจับ” แฟนพันธุ์แท้ทะเลไทยกล่าว



ดร.ธรณ์กล่าวต่อว่า การจับปลาเป็นเหมือนการทรมานสัตว์ ทำให้ปลาเกิดความเครียดไม่กินอาหารและเสียชีวิต กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เลี้ยง เพราะปลาบอบช้ำจากการจับที่มีการใช้ยา และอวนในการจับปลา ต้องใส่ถังไว้ 7 – 8 วันกว่าจะเข้าฝั่ง เพื่อให้คุ้มค่ากับการออกไปจับในแต่ละครั้ง ปัญหาอีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้เลี้ยงก็คือ ไม่มีเงินทุนมากพอ การเลี้ยงปลาทะเลต้องมีการเซ็ทระบบตู้ปลา ควบคุมอุณหภูมิ ความเค็ม ค่าอาหาร การหมุนเวียนของน้ำ กรองโอโซน จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก การเลี้ยงปลาไม่ได้แปลว่าผิด แต่จะเลี้ยงอย่างไร เลี้ยงแบบอนุรักเพาะพันธุ์ หรือว่าตายแล้วซื้อใหม่ ขึ้นอยู่ที่จรรยาบรรณของผู้เลี้ยง



รองคณบดีกล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขในขณะนี้คือการแยกคนดีออกจากคนไม่ดี เพราะคนรักปลาเลี้ยงปลาจริงก็มีมาก ไม่ทำผิดกฎหมายพร้อมสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ คนที่ไม่ดีก็มีอยู่ เหมือนกับอะควาเรี่ยมที่ดี ย่อมยอมลงทุนมากเพื่อการเลี้ยงปลา แต่อะควาเรี่ยมที่เลี้ยงปลาไม่เป็น พอปลาตายก็ซื้อปลาใหม่ ง่ายกว่าพยายามจะรักษาปลา เพราะการรักษามีค่าใช้จ่ายสูง เช่นเดียวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องดีก็มีเยอะแต่กลับถูกเหมารวมกันหมดว่าไม่ดี สิ่งที่ควรทำในอนาคตคือการแยกปลาเน่าออกจากเข่ง
ปลาถูกจับอัตราตายสูง



ด้านนายสหภพ ดอกแก้ว นักวิชาการประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และแฟนพันธุ์แท้ปลาทะเล ปี 2549กล่าวว่า ปลาที่ขายตามสวนจตุจักรส่วนใหญ่ได้มาจากการจับและนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะปลาที่เพาะพันธุ์และใช้ในเชิงพาณิชย์มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ คิดเป็นเก้าสิบเปอร์เซนต์ จากท้องตลาดที่ได้มาจากการจับจากธรรมชาติ อัตราการตายของปลาจึงค่อนข้างสูง เพราะการลักลอบจับทำให้ต้องจับมาครั้งละมากๆ บางครั้งต้องใช้สารเคมีเพื่อทุ่นแรงและคุ้มทุนในการจับ อีกทั้งยังคุ้มกับการถูกจับกุม


นักวิชาการประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวต่อว่า ปลาที่ถูกจับได้จะถูกนำมาพักไว้ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่แคบ สำหรับปลาบางประเภทที่อาศัยในที่กว้าง เมื่อต้องเปลี่ยนสถานที่จึงเกิดความเครียดและดื้อว่ายชนขอบกระชัง ส่งผลให้ปลาเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ปลาต้องผ่านการบรรจุลัง เพื่อส่งมายังร้านขายปลาตามท้องตลาด ซึ่งมีปลาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นอัตรารอดจึงมีน้อย



นายสหภพกล่าวถึงการลักลอบขายปลาทะเลสวยงามว่า ถึงจะมีการเปิดร้านขายกันอย่างแพร่หลายทั้งที่ผิดกฎหมาย แต่เจ้าหน้าก็ไม่ได้นิ่งเฉย กฎหมายบัญญัติถึงปลาทะเลสวยงามและปะการังให้เป็นสัตว์คุ้มครองในพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่าปีพ.ศ. 2535 ผู้ใดที่มีไว้ในครอบรองโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท จำคุกไม่เกิน 4 ปี



“เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าดูแลได้ทั่วถึงทุกวัน โดยส่วนตัวก็ไม่ได้แอนตี้เรื่องการจับปลาทะเลมาขาย เรื่องนี้ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นจะทำลายทรัพยากรให้สิ้น ถึงแม้ว่าจะผิดกฎหมาย ก็ไม่ร้ายแรงเท่ากับยาบ้าที่ต้องมีการล่อซื้อ แต่มีการปราบปรามเพื่อให้ทราบว่าผิดกฎหมาย ไม่ได้นิ่งเฉย” แฟนพันธุ์แท้ปลาทะเลกล่าว
นายสหภพกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เลี้ยงปลาทะเลสวยงามต้องศึกษาหลายด้าน อันดับแรกคือคุณภาพของน้ำ ปลาทะเลจำเป็นต้องใช้น้ำตามธรรมชาติที่มีมลพิษน้อย ดังนั้นต้องทำให้น้ำในตู้ปลาไม่ให้เกิดของเสีย ระบบบำบัดเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้สมบูรณ์ อันดับสองคือความต้องการของปลา ที่มีหลายอย่าง เช่น ปลาใหญ่ต้องกินปลาเล็ก ปลาบางชนิดกัดกันเอง ปลาบางชนิดอยู่ได้ด้วยตัวเอง บางชนิดก็ต้องอยู่รวมกันเป็นฝูงอย่างสุดท้ายคือเรื่องอาหาร ปลาบางประเภทต้องกินอาหารเฉพาะ บางประเภทยอมรับอาหารสำเร็จรูป ควรเลือกเลี้ยงปลาที่กินอาหารง่าย




กรมประมงรับดูแลไม่ทั่วถึง




ทางด้านนางยู่อี้ เกตเพชร หัวหน้าฝ่ายมาตรการด้านการประมง กรมประมงกล่าว่า ปลาทะเลบางชนิดไม่ได้เป็นสัตว์คุ้มครอง แต่กฎหมายสามารถควบคุมในบางพื้นที่ที่ห้ามจับ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยที่กฎหมายจำกัดให้บางจังหวัดหรือบางอำเภอเป็นเขตคุ้มครอง เช่น จังหวัดภูเก็ต มีการจัดแบ่งพื้นที่สำหรับทำประมงได้และทำไม่ได้ มีแค่บางประเภทเท่านั้นที่กฎหมายห้ามมีไว้ในครอบครอง อาทิเช่น ดอกไม้ทะเล ปะการัง





หัวหน้าฝ่ายมาตรการกล่าวต่อว่า ปลาที่ขายตามสวนจตุจักรส่วนหนึ่งได้นำเข้ามาจากต่างประเทศ และอีกส่วนมาจากพื้นที่ไม่ได้ควบคุม ฉะนั้นจึงมีสิทธิที่จะจับขายได้ เพราะกฎหมายคุ้มครองตรงพื้นที่ห้ามจับ นอกจากนี้พื้นที่ที่มีการขายปลามีบางร้านที่มีสิ่งผิดกฎหมายปะปน แต่ต้องดูว่ามาจากที่ไหนและปลาอะไร





“ลักษณะของกรมประมงจะดูแลทั้งชาวประมงและทรัพยาการประมง ให้มีใช้อย่างยั่งยืน จะดูแล กฎหมายอาจมีความเป็นไปได้ว่าซ้ำซ้อนกันอยู่ เพราะพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมก็เป็นชายทะเลเหมือนกัน แต่พื้นที่บางที่ต้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพิ่ม เพราะประมงห้ามแค่เครื่องมือบางชนิดในเขตสามกิโลเมตร คุ้มครองสิ่งแวดล้อมต้องการมากกว่านั่น” นางยู่อี้กล่าว




นางยู่อี้ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การจับกุมปะการังผิดกฎหมายเป็นไปตามตามพระราชบัญญัติสงวนคุ้มครองสัตว์ป่า สัตว์ทะเลประเภทปะการัง กัลปังหา ดอกไม้ทะเล เป็นสัตว์ต้องห้ามตามกฎหมาย มีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองตามกฎหมาย แต่ได้มอบให้หน่วยงานอื่นด้วย คือ ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ แม้ว่าจะมีการจับกุมแต่ก็ยังมีการขายให้เห็นกันตามท้องตลาด





“เคยนั่งมอเตอร์ไซด์ที่เขาให้สวมหมวกกันน๊อคแล้วไม่สวมมั้ย กฎหมายระบุว่าผิดแต่ก็ยังมีทำ เราบอกว่ามันส่งผลกระทบอาจทำให้ทรัพยากรหมดไป ถ้าเราไม่ได้ดูแลมัน ปล่อยให้มีการนำมาใช้เกินกำลังการผลิตของธรรมชาติก็จะทำให้ทรัพยากรเสื่อมตัวลง” หัวหน้าฝ่ายมาตการด้านการประมงกล่าว





นางยู่อี้กล่าวต่อไปว่า การออกกฎหมายพิทักษ์ มีพนักงานเจ้าหน้าที่ปกป้องพื้นที่ แต่ไม่สามารถป้องกันได้ตลอดทุกวัน เพราะทะเลมีพื้นที่มาก ก่อให้เกิดช่องว่างในการดูแล ขณะที่เจ้าหน้าที่ไปตามจับยังพื้นที่หนึ่ง แต่อีกพื้นที่หนึ่งกลับทำอยู่เพราะไม่มีใครดูแล ทุกอย่างก็เช่นเดียวกัน ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซนต์ ตราบใดที่คนยังไม่อิ่มท้องยังหิวอยู่





ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงการจับกุมในเขตพื้นที่ห้ามจับ หัวหน้ามาตรการกล่าวว่า กรมประมงไม่ได้มีหน้าที่หลักในการจับผู้กระทำผิด แต่มีหน้าที่จับส่งตำรวจ ส่วนเรื่องการยึดของกลางเป็นหน้าที่ของตำรวจ และจัดการตามกระบวนการยุติธรรมต่อ สำหรับการลงตรวจพื้นที่ของกรมประมงได้มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ ไม่เพียงเฉพาะพิทักษ์ปลาสวยงามอย่างเเดียว แต่ยังมีหน้าที่รักษาให้มีปลาคงอยู่ และคงไว้ให้มีปลาเศรษฐกิจจับได้ตลอด





“เราต้องให้การศึกษากับประชาชน อย่างประชาชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ การรับรู้ก็จะแตกต่างจากคนที่ได้เรียน เช่นเดียวกับชาวประมงพื้นบ้านอาจจะมีคนว่าจ้างหรือรู้ว่าได้ราคาสูงก็จะไปจับมา หรืออาจทำไปเพราะบางอย่างบังคับ แต่หน้าที่ของภาครัฐต้องพยายามอย่าให้เกิด โดยที่กรมประมงก็ได้ใช้วิธีการให้ข้อมูล จัดอบรมเยาวชน อย่างน้อยก็ให้มีความรู้ในระดับแรก โดยที่พยายามทำทุกอย่างไปพร้อมกันทั้งป้องกัน ปราบปรามและตรวจจับ ทำตามหน้าที่ของตัวเอง” นางยู่อี้กล่าวทิ้งท้าย






ผู้สื่อข่าวได้มีการติดต่อไปทาง สำนักงานกรีนพีซ ซึ่ง เป็นองค์กรณ์รงค์อิสระระดับโลกที่ลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรม ปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ ส่งเสริมสันติภาพ และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กรมป่าไม้ ทั้ง 3 หน่วยงานตอบตรงกันว่า การอนุรักษ์ปลาทะเล ไม่ได้อยู่ในหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น