วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เขตดินแดงขยะเต็มเมือง!!


เขตดินแดงขยะเต็มเมือง!! จนท.เขตดินแดงเผยขยะล้นอันดับ 4 ของประเทศ ซ้ำเจอปัญหาชาวบ้านไม่ช่วยแยกขยะ ระบุพยายามหาทางออกด้วยการทำให้กลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด ด้านคนเก็บขยะรับงานหนัก วอนแยกขยะเพื่อความง่ายในการจัดเก็บ



จากการเฝ้าสำรวจพฤติกรรมการทิ้งขยะของประชาชน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2553 ตั้งแต่ช่วงเวลา 9.00 – 12.00 น. และ 13.00 – 16.00 น. ณ บริเวณแฟลตดินแดงและหน้าสำนักงานเขตดินแดง มีถังขยะประมาณ 6 – 7 จุด ซึ่งผู้สื่อข่าว “หอข่าว” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ขาดวินัยในการทิ้งขยะ เนื่องจากทิ้งขยะโดยไม่คำนึงถึงประเภทของขยะ คือ ไม่แยกประเภทของขยะ เช่น ขยะเปียกแต่ทิ้งถังที่เป็นขยะมีพิษ หรือขยะแห้งทิ้งถังขยะเปียก เป็นต้น ทั้งที่ทางสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครได้รณรงค์ให้มีการแยกขยะเพื่อความสะดวกและเป็นระบบในการจัดเก็บขยะของเจ้าหน้าที่ พร้อมจัดเตรียมถังขยะแยกประเภทไว้ตามจุดต่างๆ เป็นถังประเภทพลาสติก แยกประเภทตามสี เช่น สีแดงเป็นขยะที่มีพิษอันตราย สีเหลืองเป็นขยะรีไซเคิลหรือขยะแห้ง และสีเขียวเป็นขยะเศษอาหาร เป็นต้น แต่มีเพียงประชาชนบางส่วนที่เลือกปฏิบัติตาม ทำให้มีปัญหาในการจัดเก็บขยะ


ผู้สื่อข่าว “หอข่าว” รายงานต่อว่า เจ้าหน้าที่จะทำการแยกขยะแค่บางส่วนเท่านั้นเนื่องจากต้องเก็บหลายที่ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เมื่อเก็บครบบริเวณที่รับผิดชอบแล้ว รถเก็บขยะทุกคันจะนำขยะมูลฝอยที่เก็บทั้งหมดไปส่งที่สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย โดยสำนักงานเขตดินแดงจะนำไปที่สถานีขนส่งมูลฝอยอ่อนนุช เพื่อเป็นหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานเอกชนที่ถูกว่าจ้างให้กำจัดขยะ เริ่มแรกเป็นการแยกขยะออกเป็นสามส่วน คือ ขยะเปียก ขยะแห้งหรือขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย โดยขยะเปียกจะนำไปผ่านกระบวนการหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพ ขยะแห้งหรือขยะรีไซเคิลนำไปแปรรูปให้เป็นมูลค่าตามชนิดของขยะนั้นๆ ส่วนขยะอันตรายทางหน่วยงานนำไปกลบฝังดินเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายและเพื่อลดปริมาณขยะได้ด้วย


นายวัชระ บุญรัก พนักงานเก็บขยะเขตดินแดง เปิดเผยถึงเวลาในการจัดเก็บขยะของพื้นที่เขตดินแดง ว่าจะเริ่มจากช่วงเวลา01.00 น.-03.00 น.แต่ถ้าหากบริเวณใดมีจำนวนขยะเป็นจำนวนมากก็จะยืดเวลาออกไป จนถึงประมาณ 6.00 น. การเก็บขยะเจ้าหน้าที่จะทำการแยกขยะซึ่งจริงๆแล้วจะต้องถูกแยกมาก่อนที่จะเก็บ แต่บางบริเวณไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดทำให้ขยะปะปนกัน เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องเข้ามาจัดการเพื่อจะได้ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป


“หลังจากทำการเก็บขยะเรียบร้อยแล้ว รถเก็บขยะทุกคันต้องเดินหน้าไปที่สถานีขนถ่ายมูลฝอย เพื่อทำการแยกขยะและกำจัดขยะต่างๆ ซึ่งสถานีขนถ่ายขยะมี 3 ที่ คือ อ่อนนุช ซอยวัชรพล และหนองแขม โดยเขตดินแดงนั้นต้องไปที่สถานีที่อ่อนนุช เพื่อให้องค์กรเอกชนรับหน้าที่ต่อในการดำเนินการต่างๆ โดยคำนึงถึงเรื่องการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุดและเพื่อช่วยลดปริมาณขยะล้นเมือง” นายวัชระ กล่าว


ว่าที่ ร.ต.ฤทธิพันธ์ นันทศุภกร หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตดินแดง ให้ความเห็นถึงการจัดการขยะในเขตรับผิดชอบว่า เขตดินแดงมีการจัดการและดูแลการเก็บขยะโดยเน้นการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด เพราะเขตดินแดงเป็นพื้นที่ที่มีขยะมากเป็นลำดับที่ 4 ของประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น การนำขยะสดมาผ่านกระบวนการที่ทำให้สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ใหม่ และที่ผ่านมากระบวนการดังกล่าวก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ


“ขยะส่วนใหญ่ในพื้นที่เขตดินแดงจะเป็นขยะสดตามตลาดต่างๆ ขยะในพื้นที่เขตดินแดงทั้งหมด 100% มีขยะสด 40% ขยะพวกวัสดุก่อสร้าง 40% และขยะอันตรายอีก 20% ทางเขตดินแดงได้หาวิธีการในการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการนำขยะสดมาหมักใส่ไว้ในถังขนาด 400 ลิตร ซึ่งผสมเข้ากับจุลินทรีย์จะทำให้ได้น้ำชีวภาพที่จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น นำไปรดน้ำต้นไม้ นำไปถูบ้านเพื่อไล่แมลงวัน หรือนำไปเช็ดคาบอาหารพวกไขมันที่ติดอยู่ในจาน ชาม ที่เราใช้ในการรับประทานอาหาร เป็นต้น ซึ่งหลังจากที่สำนักงานเขตดินแดงได้ทดลองวิธีการขั้นต้นแล้วผลออกมาดีเป็นที่พอใจอย่างมาก” ว่าที่ ร.ต.ฤทธิพันธ์ กล่าว
หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทางสำนักงานเขตได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปฝึกอบรมชาวบ้าน ภายในบริเวณเขตดินแดง รวมถึงสถานที่ทางราชการต่างๆไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ฝึกวิชาทหาร แฟลตดินแดง หรือหน่วยงานต่างๆภายในบริเวณให้ได้รับความรู้และนำไปใช้ โดยการจัดตั้งที่กักเก็บเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานเพื่อใช้หมัก ขณะเดียวกันเศษขยะที่เหลือจะนำส่งไปที่สำนักงานขยะมูลฝอยอ่อนนุช ส่วนขยะที่ย่อยสลายยากทางสำนักงานจะจ้างบริษัทเอกชนมารับเหมาในการกำจัดขยะ ซึ่งทางบริษัทเอกชนจะนำขยะที่เป็นพวกวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่มาอัดให้เป็นก้อนกลมและนำไปใช้ในการถมที่


“ส่วนการเดินทางเก็บขยะของพื้นที่เขตดินแดงเราดำเนินการตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร โดยเรามีแผนที่ในแต่ละวัน มีการดูคอมพิวเตอร์ของสำนักงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ขับรถขยะทุกคันต้องใช้เวลาวิ่งให้น้อยที่สุด ใน 1 วัน ต้องวิ่ง 2 เที่ยว เที่ยวละ 2 ชั่วโมง ต้องคำนวณตั้งแต่เวลาในการเก็บจนกระทั่งการขนถ่ายไปสู่สถานีขนถ่ายมูลฝอย ซึ่งปัจจุบันทางกรุงเทพมหานครได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบ จีพีเอส(GPS) มี แบ๊คบ๊อก(Black Box) ติดอยู่ที่รถขยะทุกคัน เพื่อตรวจสอบการทำงานของคนขับรถทุกคนว่ามีการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายมากน้อยเพียงใด” ว่าที่ ร.ต.ฤทธิพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย


ทั้งนี้ข้อมูลจากองค์กรสมาคมสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ) ระบุว่า การสร้างจิตสำนึกให้กับทุกคนในการรณรงค์ว่าการแยกขยะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่ทิ้งขยะอย่างไม่รู้คุณค่า ขยะบางชนิดสามารถนำกลับมาใช้ได้ และเป็นการเพิ่มมูลค่าเและสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองอีกทางหนึ่ง เมื่อขยะจำนวนน้อยลงจะทำให้ปัญหาโลกร้อนลดลง เช่นกัน



ต่างประเทศกับวิธีการแยกขยะและการเก็บขยะ



ประเทศสหรัฐอเมริกา การใช้สีของถังขยะเป็นตัวแยกขยะ คือ ถังขยะสีดำ ประเภทขยะเปียก เศษอาหารต่างๆ สีเขียวใส่เฉพาะกิ่งไม้ใบหญ้า สีฟ้าเฉพาะขยะรีไซเคิล และถังขยะสีเหลือง สำหรับเศษขยะประเภทโฟมต่างๆ โดยที่รถเก็บขยะจะมาในทุกเช้าของวันพฤหัสบดีแล้วแต่ว่ารถเก็บประเภทไหนมาก่อน โดยใช้คนเก็บขยะเพียงแค่คนเดียวและมีเครื่องยกขยะแบบไฮโดรลิก
อ้างอิงจาก :: http://www.kradandum.com/essay/20050822.html



ประเทศญี่ปุ่น มีการแบ่งแยกประเภทขยะเป็น 4 ชนิด คือ 1. ขยะเผาได้ (ขยะจากครัวและขยะเล็กๆน้อยๆ) 2. ขยะเผาไม่ได้ (ขวดแก้ว กระป๋อง ขวดพลาสติก) 3. ขยะขนาดใหญ่ (เครื่องคอมฯ ตู้เย็น) 4. ขยะรีไซเคิล (กระดาษต่างๆ) 5.ขยะที่ต้องแจ้งหน่วยงานให้มาเก็บ (เครื่องดนตรีขนาดใหญ่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและซากสัตว์) โดยมีวันเวลาที่กำหนดแน่นอนในการจัดเก็บขยะของเจ้าหน้าที่ คือ ขยะเผาได้และขยะทั่วไปในวันอังคารและวันศุกร์ ก่อน 09.00 น. วันพุธที่สองและพุธที่สี่ของเดือน กำหนดเป็นวันทิ้งขยะประเภทขวดแก้ว และกระป๋องเครื่องดื่ม วันพฤหัสบดีที่สองและที่สี่ของเดือน เป็นวันทิ้งขยะขนาดใหญ่ วันจันทร์ที่สามของเดือน เป็นวันทิ้งขยะรีไซเคิล อ้างอิงจาก :: http://www.japankiku.com/tour/garbage_japan.

1 ความคิดเห็น:

  1. GPS ของ บริษัท แอ็บโซลูท โซลูชั่น บริษัทเราก็ใช้ เค้ามีอะไรใหม่มาให้เล่นตลอดเลย ชอบมากเลย คิดแทนเราแทบทุกเรื่องสบายเลยเรา

    ตอบลบ