วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แฉรูปแบบโกงเกมส์เปลี่ยนนิสัยเด็กไทย

วิกฤตสังคมเสื่อมเด็กโกงแม้แต่การเล่นเกมส์ เซียนเกมส์ชี้โปรแกรมโกงหาง่ายแค่คลิ๊กกูเกิลมีทุกอย่าง “ไอซีทีแจง”โปรแกมโกงเกมส์จับได้แน่หากผู้เสียหายร้องเรียน ด้าน“วัลลภ” เตือนหากไม่เร่งแก้ไขอาจติดเป็นนิสัยจนโต

จากการสืบค้นข้อมูลของผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ “หอข่าว” พบว่า เกมส์บนเว็บไซต์ เฟชบุ๊ค(Facebook ) ไฮไฟร์(hi5) และเกมส์ออนไลน์อื่นๆ กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นทำให้มีการแข่งขันในการเล่นสูง จึงมีผู้คิดค้นโปรแกรมโกงเกมส์ขึ้นเพื่อให้ผู้เล่นเกมส์สามารถเล่นได้เร็วแต่ใช้เวลาน้อยกว่าในการเล่นเมื่อเทียบกับบุคคลอื่น จากนั้นจะนำโปรแกรมโกงส่งต่อให้เพื่อนหรือเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

จากการสำรวจผ่านเว็บไซต์ กูเกิ้ล(Google)เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 โดยค้นหาคำสำคัญที่เกี่ยวกับโปรแกรมโกงเกมส์ พบว่าส่วนใหญ่จะมีผลการค้นมากกว่าล้านครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างมาก เช่นคำว่า”โปรแกรมโกงเกม”พบผลลัพท์ 1,030,000 รายการ “โกงเกมส์”พบผลลัพท์ 1,420,000 รายการ “บอท”พบผลลัพท์ 6,400,000 รายการ “โปร”พบผลลัพท์ 21,100,000 รายการ เป็นต้น โดยจะมีเว็บไซต์แจกโปรแกรมโกงเกมส์ และสูตรเกมส์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย เช่น เว็บPramool เว็บAll2BOT และเว็บThaigamingเป็นต้น

จากการสอบถามกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่เล่นเกมส์ พบว่าเด็กส่วนมากที่ใช้โปรแกรมโกงเกมส์จะอ้างว่า ผู้อื่นก็โกง ทำไมตนจึงโกงบ้างไม่ได้ ทำให้พฤติกรรมการโกงเกมส์เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ จากเด็กที่ไม่ใช้โปรแกรมโกงเมื่อถูกเอารัดเอาเปรียบ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพื่อที่จะเอาชนะคนอื่นให้ได้ ทำให้พฤติกรรมการโกงเกมส์ในปัจจุบันดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับเด็กไทย
โปรแกรมโกงเกมส์ยอดนิยม

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 นายวีรศักดิ์ มัสเยาะ อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหาร มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ผู้ที่เคยใช้โปรแกรมโกงเกมส์ต่างๆด้วยตนเองกล่าวว่า โปรแกรมโกงเกมส์ส่วนใหญ่จะค้นหาจาก กูเกิ้ล(Google) และตามเว็บบอร์ดของเกมส์ออนไลน์ต่างๆ โปรแกรมโกงเกมส์ที่นิยมใช้กันส่วนมากจะเป็น โปรแกรม ชีท เอ็นจิ้น(Cheat Engine),บอท(Bot) และการเปิดเซิร์ฟเวอร์เถื่อน ฯลฯ ส่วนขั้นตอนการใช้โปรแกรมแต่จะมีวิธีใช้บอกในเว็บบอร์ด ของผู้ที่นำโปรแกรมมาแจก โปรแกรมส่วนใหญ่จะเป็นของชาวต่างชาติเขียนมาและมีผู้เชียวชาญด้านคอมพิวเตอร์นำมาดัดแปลงใช้กันในประเทศไทย

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต กล่าวต่อว่า บอท เป็นโปรแกรมช่วยเล่น เพื่อให้ผู้เล่นไม่ต้องนั่งเล่นเอง บอทจะทำทุกอย่างได้ด้วยตนเอง การที่จะสั่งให้บอททำหน้าที่แทนตัวละครในเกมส์ขึ้นอยู่กับ สคริปต์(script)ที่ได้เขียนเอาไว้ สคริปต์(script)เปรียบเสมือนใบคำสั่งที่ผู้ใช้โปรแกรมจะต้องกำกับการกระทำต่างๆของตัวละครที่อยากให้ทำลงไป เมื่อเปิดโปรแกรมบอทโปรแกรมจะทำการอ่านคำสั่งที่ผู้ใช้โปรแกรมป้อนเข้าไปในสคริปต์ ทำให้ตัวละครในเกมส์สามารถเล่นได้โดยไม่ต้องใช้ผู้เล่นบังคับ โปรแกรมบอทส่วนมากจะใช้กับเกมส์ออนไลน์ต่างๆเพราะมีการตรวจสอบการเล่นโดยผู้ดูแลระบบ หากผู้เล่นโกงด้วยการเพิ่มสิ่งของเข้าไปในเกมส์จะถูกจับได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้บอทจึงเป็นแนวทางการโกงที่ไม่ให้ผู้ดูแลระบบสามารถตรวจจับได้เพราะการใช้โปรแกรมบอทเปรียบเสมือนผู้เล่นนั่งเล่นเอง แต่โกงโดยการให้โปรแกรมเล่นแทน

“สำหรับโปรแกรม Cheat Engine ส่วนใหญ่จะนำมาแจกตามเว็บโหลดบิท แต่สามารถหาดาวน์โหลดได้จากเว็บนอกเช่นกัน โปรแกรมนี้จะใช้โกงเกมส์ที่ใช้โปรแกรม Flash Player สร้างเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็สามารถใช้โกงเกมส์ออนไลน์หรือออฟไลน์อื่นๆได้เช่นกัน ส่วนการโกงเกมส์ แฟลช(Flash)ที่คุ้นหูจะเป็นเกมส์ใน FacebookและHi5 เช่น Restaurant City , Pet Society ฯลฯ โปรแกรมนี้สามารถโกงเงินและสิ่งของต่างๆในเกมส์ให้มากขึ้น โดยการใช้โปรแกรมหารหัสสิ่งของในเกมส์ที่เราต้องการ แล้วทำการก๊อปปี้รหัสนั้นเพื่อเพิ่มจำนวน เท่านี้ก็จะได้ของต่างๆโดยไม่ต้องนั่งเล่นเป็นวันๆ และยังสามารถโกงเกมส์ออนไลน์ในรูปแบบอื่นๆได้อีก ยกตัวอย่างเช่นเกมส์ Audition Special Force[SF] ที่หลายคนรู้จักดี” นายวีรศักดิ์ กล่าว

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิตอธิบายถึงกรณี การเปิดเชิร์ฟเวอร์เถื่อนว่า ปกติเกมส์ออนไลน์แต่ละเกมส์จะเป็นของค่ายเกมส์ต่างๆเช่น เอเซียซอร์ฟ(Asiasoft),(ฟันบ๊อก)Funbox ฯลฯ จะมีการเปิดเซิร์ฟเวอร์ของเกมส์ตามลิขสิทธิ์อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งผู้เล่นจะต้องเสียเงินซื้อบัตรเติมเวลาในการเล่นแต่ละวันหรือเป็นเดือน และใช้เวลาในการเล่นนานกว่าจะได้สิ่งของต่างๆตามต้องการ แต่เซิร์ฟเวอร์เถื่อนจะเป็นการใช้โปรแกรมโกงก๊อปปี้ตัวเกมส์ออกมา และผู้โกงจะต้องทำการเช่าพื้นที่ซึ่งเรียกว่า โคโลเคชั่น (colocationการให้บริการพื้นที่ตั้งเครื่องเซิร์ฟเวอร์) เพื่อทำการเปิดเซิร์ฟเวอร์

“ผู้เล่นที่เล่นเซิร์ฟเวอร์เถื่อนจะไม่ต้องเสียเงินเพื่อซื้อบัตรเติมเวลาในการเล่นแต่ละวันหรือเป็นเดือน แต่เซิร์ฟเวอร์เถื่อนจะมีรูปแบบในการเรียกเก็บเงินจากผู้เล่น คือผู้เล่นจะต้องเสียเงินซื้อบัตรเติมเงินโทรศัทพ์ไปแลกกับสิ่งของในเกมส์ที่ตนอยากได้แทนการซื้อบัตรเติมเวลาในการเล่นแต่ละวัน ซึ่งเป็นช่องทางหาเงินของผู้ที่เปิดเซิร์ฟเวอร์เถื่อน เมื่อได้รหัสบัตรเติมเงินแล้วผู้เปิดเซิร์ฟเวอร์เถื่อนจะทำการคีย์รหัสข้อมูลสิ่งของต่างๆที่ผู้เล่นร้องขอ ผู้เล่นก็จะได้สิ่งของตามต้องการ เซิร์ฟเวอร์เถื่อนผู้เล่นจะใช้โปรแกรมโกงต่างๆได้อย่างอิสระจึงทำให้เล่นได้ไวกว่าเซิร์ฟเวอร์ปกติหลายเท่าตัว” นายวีรศักดิ์ กล่าว
สารพัดเหตุผลการโกงเกมส์

นายจิรายุทธ แจ้งวัฒนะ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า เกมส์ออนไลน์เกือบทุกเกมส์จะมีโปรแกรมโกงตามออกมาด้วยเช่น แร๊คนาร๊อค (Ragnarok) เมเปิ้ลสตอรี่ (Maplestory) เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมโกงเกมส์ประภทนี้จะหาง่าย ทั้งในเว็บและจากเพื่อนที่เล่นเกมส์ด้วยกัน ทำให้ในปัจจุบันการโกงเกมส์กลายเป็นเรื่องธรรมดา

นายจิรายุทธกล่าวว่า ใช้โปรแกรมโกงเพื่อช่วยเล่นเกมส์เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลาว่างในการเล่น และเกมส์ที่เล่นมีการเก็บเลเวล(Level) หากเลเวลไม่เยอะพอก็ไม่สามารถเอาชนะผู้อื่นในเกมส์ได้ และทำให้เล่นตามผู้อื่นไม่ทัน เพราะส่วนมากจะใช้โปรแกรมโกงเกมส์กันทั้งนั้น

“คนที่นำโปรแกรมโกงเกมส์ต่างๆมาโพสต์ส่วนมากจะเล่นอยู่ในเกมส์ออนไลน์นั้นๆด้วย โปรแกรมโกงเกมส์จะมี2แบบคือ เสียเงินกับไม่เสียเงิน จะต่างกันตรงที่ความปลอดภัย โปรแกรมที่เสียเงินจะมีระบบความปลอดภัยสูงกว่าโปรแกรมที่ไม่ต้องเสียเงิน เช่นหาก จีเอ็ม(GM ผู้ตรวจสอบการใช้โปรแกรมโกงในเกมส์ออนไลน์ของค่ายเกมส์แต่ละเกมส์) ออนไลน์เข้าตรวจสอบภายในเกมส์ ระบบของโปรแกรมจะปิดตัวเองโดยทันทีเพื่อไม่ให้ถูกจับได้ ส่วนวิธีการซื้อขายก็เพียงนำบัตรเติมเงินหรือโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อแลกกับรหัสที่ใช้ในการล็อกอินโปรแกรมโกง”นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าว

ด้านนายพีริทธิ์ ปิติบาตร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ที่ไม่เคยใช้โปรแกรมโกงในการเล่นเกมส์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่เล่นเกมส์จะเล่นเพื่อความผ่อนคลาย ประโยชน์จากการเล่นเกมส์ด้วยตนเองคือได้ฝึกทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ ฝึกการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า นำมาปรับเปลี่ยนใช้กับชีวิตประจำวันได้ ที่สำคัญในบางเกมส์จะใช้ภาษาอังกฤษในการโต้ตอบพูดคุย ทำให้ผู้เล่นมีความรู้เพิ่มเติมเรื่องภาษาอังกฤษมากขึ้นได้

“คนที่ใช้โปรแกรมโกงผมมองว่าไม่มีความสามารถพอที่จะเล่นเกมส์ได้ด้วยตนเอง อนาคตคงทำอะไรเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่นตลอดเวลา อยากให้มีการกวาดล้างโปรแกรมโกงเกมส์ต่างๆอย่างจริงจัง เพราะตอนที่เล่นเกมส์แล้วเจอคนที่ใช้โปรแกรมโกงผมรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ทุกวันนี้มีคนที่ใช้โปรแกรมโกงเกมส์เยอะมาก จนเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว” นักศึกษจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าว
คำเตือนจากนักจิตวิทยา

นายวัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่เด็กไทยใช้โปรแกรมโกงในการเล่นเกมส์ว่า ตามหลักจิตวิทยาพฤติกรรมการเล่นของเด็กจะส่งผลต่อเนื่องไปยังอนาคต เช่น ตอนเด็กชอบเล่นเป็นหมอโตขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นหมอ ชอบเล่นค้าขายโตขึ้นก็อาจเปิดร้านขายของเป็นต้น ถ้านำมาเปรียบกับการเล่นเกมส์ เด็กที่ชอบเล่นเกมส์ที่ก้าวร้าวหรือรุนแรงเมื่อโตขึ้นจะมีนิสัยชอบความรุนแรงและก้าวร้าว หากเด็กเล่นเกมส์โดยการโกงเป็นประจำ โตขึ้นก็จะมีนิสัยโกงผู้อื่นอยู่เสมอ

“พฤติกรรมการโกงในรูปแบบต่างๆจะส่งผลให้เด็กเกิดนิสัยที่ต่างกันตามรูปแบบของการโกง เช่น 1.การโกงโดยใช้โปรแกรมบอทหรือโปรแกรมช่วยเล่น ก็คือการโกงโดยใช้ตัวช่วยให้เล่นแทน พฤติกรรมของเด็กที่ส่งผลต่อเนื่องจะออกมาในรูปแบบผักชีโรยหน้า ขอแค่ให้งานเสร็จเป็นพอ 2.การโกงโดยใช้โปรแกรม Cheat Engine คือโกงเงินกับสิ่งของ การโกงแบบนี้จะส่งผลต่อพฤติกรรมเด็กหนักกว่าการโกงแบบที่ 1 อย่างเช่นการฟอกเงิน หรือหาวิธีโกงที่จะทำให้ได้เงินอย่างรวดเร็ว และแบบสุดท้ายคือการโกงแบบเชิร์ฟเวอร์เถื่อน คือการโกงแบบไม่มีความอดทนในการเล่นหรือลองผิดลองถูกเพื่อแก้ไขปัญหาภายในเกมส์ด้วยตนเองแต่กลับใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองเล่นเกมส์ให้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ เด็กเหล่านี้เมื่อโตขึ้นจะเป็นคนเจ้าเล่ห์ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ” นักจิตวิทยาที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าว

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา นายวัลลภ กล่าวว่า การที่จะห้ามไม่ให้เด็กเล่นเกมส์นั้นเป็นเรื่องยาก แต่เราสามารถสอนให้เด็กรู้จักการเล่นเกมส์อย่างถูกวิธีได้ โดยมองว่าน่าจะมีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนเพิ่มเติมในเรื่องของทักษะการใช้ชีวิต ให้เด็กรู้จักตั้งเป้าหมายของการกระทำแต่ละอย่างว่าทำไปเพื่ออะไร และได้อะไรจากการกระทำ ทำไปแล้วมีความสำคัญอย่างไร ใช้เวลานานเท่าไหร่ อาจมีชั่วโมง Homeroom (การให้ทุกคนมานั่งล้อมวงกันในห้องเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น) เช่น เด็กคนแรกเล่นเกมส์ด้วยตนเองแล้วได้ความรู้ทักษะในการเล่นมาเล่าสู่กันฟัง เด็กอีกคนโกงเกมส์มาแล้วไม่มีทักษะในการเล่น จะทำให้เกิดการวิเคราะห์ของเด็กที่เหลือว่าแบบใหนไหนทำแล้วได้ประโยชน์มากกว่ากัน

“ถ้าเราป้องกันการโกงเกมส์ด้วยการบล๊อกเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เหมือนไปกระตุ้นให้เด็กคิดหาวิธีการสร้างโปรแกรมโกงในรูปแบบใหม่ๆมากขึ้น ปัญหาที่แท้จริงคือทุกวันนี้เด็กไทยหลายคนยังไม่เข้าใจกับคำนิยามของ การเล่นเกมส์ เด็กส่วนใหญ่คิดว่าเล่นเกมส์เพื่อแข่งขัน เพื่อเอาชนะ ทำให้เด็กหาวิถีทางในการเอาชนะไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม จึงทำให้เกิดโปรแกรมโกงขึ้นมา” นักจิตวิทยาที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าว

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า นิยามของคำว่า เล่นเกมส์ แท้จริงแล้วคือ เล่นให้สนุก ได้ความรู้ แลกเปลี่ยนทักษะต่างๆซึ่งกันและกันระหว่างผู้เล่นแต่ละคน และแบ่งเวลาในการเล่นไม่ให้มากจนเกินไป ถ้าเด็กไทยเข้าใจกับคำนิยามตรงนี้โปรแกรมโกงเกมส์ก็ไม่จำเป็นในการเล่นเกมส์ของเด็กอีกต่อไป

นางสาวชมพูนุท ศรีจันทร์นิล อาจารย์ประจำวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าตามหลักจิตวิทยาหากเด็กกระทำพฤติกรรมอะไรซ้ำๆ โดยไม่ถูกลงโทษหรือว่ากล่าวตักเตือน เด็กจะมีโอกาสทำ พฤติกรรมในรูปแบบเดิมเพิ่มมากขึ้นไปอีก หากถูกยับยั้งด้วยการลงโทษเด็กก็จะค่อยๆหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นลง
“ถ้าเด็กเล่นเกมส์โดยไม่ใช้โปรแกรมโกง ก็จะส่งผลให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ริเริ่มสิ่งแปลกใหม่ สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วยตนเอง แต่ในเรื่องของการโกงเกมส์ในปัจจุบันที่เด็กหลายคนมองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ผิดจะเป็นแรงเสริมให้เด็กสรรหาวิธีในการโกงรูปแบบใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น ถ้าไม่ควบคุมพฤติกรรมของเด็ก อนาคตเด็กเหล่านี้ก็จะพัฒนาตัวเองไปในทางไม่ดี” นางสาวชมพูนุท กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงวิธีการแก้ไขพฤติกรรมการโกงเกมส์ของเด็ก อาจารย์ประจำวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เนื่องจากเด็กๆเหล่านี้เป็นเยาวชนอยู่วิธีป้องกันหรือควบคุมก็ยังสามารถทำได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดมาตราการที่ทำให้การกระทำของเด็กถูกยับยั้ง โดยการสร้างบทลงโทษกับเด็กที่ใช้โปรแกรมโกงเกมส์อย่างจริงจัง และทำให้เด็กไม่กล้าที่จะใช้โปรแกรมโกงอีก เพื่อไม่ให้พฤติกรรมของเด็กส่งผลไปสู่อนาคต

ไอซีที ขอพลิก กม.คอมฯเล่นงาน

นายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พระราชบัญญัตว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) กล่าวว่า การที่จะดำเนินการเอาผิดกับโปรแกรมโกงเกมส์ ต้องตีความกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ก่อนที่จะเข้าร้องทุกข์ต่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยส่วนใหญ่การใช้โปรแกรมโกงเกมส์ในรูปแบบต่างๆ ผู้เสียหายโดยตรงต่อการใช้โปรแกรมเหล่านี้จะเป็นบริษัทผู้ผลิตเกมส์ ทางกระทรวงจะไม่สามารถดำเนินการได้ ถ้าไม่มีผู้เสียหาย(บริษัทเกมส์)เข้าร้องเรียน

นายณัฐ กล่าวต่อไปว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์มีอยู่มากมาย ยกตัวอย่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องและพูดถึงอยู่บ่อยๆ คือ การรบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์ มาตรา 9 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น โดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ยังมีข้อกฎหมายอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งประชาชนสามารถทำความเข้าใจกับข้อกฎหมายมาตราต่างๆได้จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือค้นหาจากแหล่งความรู้ต่างๆ

“กรณีในเรื่องของการใช้โปรแกรมโกงเกมส์ต่างๆ จะต้องมีเจ้าทุกข์เข้ามาร้องเรียนที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพราะกรณีนี้ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ที่จะดำเนินการได้ทันที จากนั้นทางกระทรวงจะตรวจสอบว่าเป็นไปตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรือไม่ ถ้าเป็นไปตามข้อกฎหมายทางกระทรวงจะดำเนินการช่วยเหลือทันที” นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พระราชบัญญัตว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น